เทคนิคการเลี้ยงปลาทอง ประจำปี 2561
สวัสดีครับ ทุกคนทั้งคนที่เพิ่งเข้ามา Search เจอ หรือหลงทางเข้ามาได้อย่างไรก็ไม่รู้ ... หรือจะเป็นคนที่คลิ๊กลิงค์จากบทความเดิมที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2559 .... ผมก็ยังคงเลี้ยงปลาทองและค้นหาคำตอบที่พึงพอใจไปเรื่อย ๆ ซึ่งผมก็คิดว่าคงยังได้คำตอบไม่หมด แต่ก็ยังค้นคว้าและทดลองหลาย ๆ เรื่อง เพื่อหาคำตอบ ในปีนี้ผมก็จะมาอัพเดทเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาทองนั่นแหล่ะครับ แต่คราวนี้ก็จะ Advance ขึ้นไปจากปี 2559 ขึ้นอีกนิดหน่อย แต่คราวนี้ผมขอเผยแพร่ข้อมูลที่ผมค้นพบในรูปแบบวีดีโอนะครับ ถ้าหากใครมีคำถามหรืออยากจะยิงคำถามก็สามารถพิมพ์ส่งมาได้เลยครับ เพราะบางทีคำถามเหล่านั้นคือตัวจุดประกายให้กับความรู้ที่ต้องค้นคว้า หรือค้นหาเพิ่มเติม แนวความคิดของผมคือไอเดียหรือความคิดไหนดีที่สุดความคิดนั้นควรได้ไปต่อครับ
ก่อนจะดูวีดีโอเรื่องลึก ๆ นี้ความต้องการพื้นฐานสำหรับการดูวีดีโอนี้ให้เข้าใจก็คงเป็นการมีความรู้เรื่องของกรองชีวภาพมาก่อนนะครับ จะรู้มากรู้น้อยแต่ต้องรู้ครับ อย่างน้อยพอพูดถึงกรองชีวภาพก็จะต้องสามารถที่จะมีภาพของกรองชีวภาพในหัวผุดขึ้นมาบ้าง จะทำให้ดูวีดีโอนี้รู้เรื่องได้มากขึ้น
ถ้ามีใครนั่งดูจนจบ สองชั่วโมง ... ซึ่งยาวมาก มีคนเคยถามผมว่าทำไมมันยาวแบบนี้ ... ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับคงจะตอบว่าผมก็พยายามปูพื้นให้กับคนทุกคนนะครับ มือใหม่มือเก่า มันก็เลยออกมายาวถึงสองชั่วโมงเลยครับ
แอมโมเนีย NH3
คือปัญหาหลักของการเลี้ยงปลาทอง การควบคุมแอมโมเนียได้ก็จะสามารถทำให้การเลี้ยงปลาทองนั้นง่ายขึ้น
คุณสมบัติของแอมโมเนีย
แอมโมเนีย เราอาจจะคุ้นเคยในเรื่องของการเอามาดม แก้เป็นลม อะไรประมาณนั้นใช่ไหมครับ ผมก็รู้จักประมาณนั้นเหมือนกัน ก่อนที่จะเลี้ยงปลาทองแล้วก็ศึกษาเรื่อย แต่แอมโมเนียที่เราพูดถึงนี้จะเป็นของเหลว ไม่มีสี มีสูตรทางเคมีคือ NH3 ซึ่งพบได้ในทุกสิ่งมีชีวิตแหล่ะครับ และเนื่องจากเป็นพิษ ร่างกายจึงจะต้องขับออกเสมอ อย่างมนุษย์ก็สามารถพบได้ในปัสสาวะหรือฉี่แต่ก็มีน้อยเพราะของเสียในฉี่จะเป็นพวกยูเรียมากกว่า นั่นแหล่ะครับ ปลาทองเองก็เช่นกัน
คุณสมบัติทางเคมีของแอมโมเนียจะเป็นเบสอ่อน ละลายน้ำได้ดี การเป็นเบส(หรือบางทีจะเรียกว่า ด่าง #กรด-ด่าง, กรด-เบส) อ่อนของแอมโมเนียแปลว่าเมื่อเกิดการละลายน้ำแล้วมีการแลกเปลี่ยนประจุกับน้ำแล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็จะเหลือแอมโมเนียเสมอ เพราะการแตกตัวได้ไม่หมดของเบสอ่อน ทำให้เหลือแอมโมเนียบางส่วน การแตกตัวนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยน H+ กับน้ำ ทำให้เกิดเป็นแอมโมเนียม NH4+ ที่ไม่มีพิษ
เพราะฉะนั้น แอมโมเนีย และ แอมโมเนียม จึงเป็นอะไรที่ไปมากันได้คือ สลับร่างกันได้ ขึ้นอยู่กับภาวะของความเป็นกรดด่างของน้ำในตู้ ถ้าเรามีการเลี้ยงปลาทองอยู่แล้ว แล้วเราเติมน้ำที่เป็นด่างกว่าน้ำเดิม (น้ำที่เป็นด่างกว่าน้ำเดิม คือน้ำที่มีค่า pH สูงกว่าน้ำเดิม) ปลาอาจจะได้รับพิษแอมโมเนีย (NH3) ได้ เพราะแอมโมเนียม(NH4+) โดนชิง H+ จึงทำให้สมการเทไปทางแอมโมเนีย ปริมาณแอมโมเนียก็จะเพิ่มสูงขึ้น และปลาก็จะได้รับผลกระทบที่ไม่ดีจากแอมโมเนียได้ ดังนั้นจึงต้องระวังเรื่องนี้ด้วย
การเกิดแอมโมเนีย
แอมโมเนียเกิดขึ้นได้สองทางหลัก ๆ
2. เกิดจากการย่อยสลายของอินทรีย์สารในระบบเลี้ยง อาหารบางส่วนหรือแม้กระทั่งเศษซากพืชจะมีการปลดปล่อยแอมโมเนียออกมา ซึ่งแอมโมเนียส่วนนี้จะเกิดในปริมาณน้อย ไม่ค่อยสร้างปัญหาให้ระบบนอกเสียจากเกิดการสะสมไว้เกิน สะสมไว้ในปริมาณมาก แอมโมเนียที่เกิดจากสาเหตุนี้ไม่ค่อยสร้างปัญหาให้ปลาทองเท่าไหร่ ถ้ามีระบบกรองที่ดีระบบกรองจะสามารถช่วยกำจัดแอมโมเนียตรงนี้ไปได้
ไนไตรท์ (NO2-)
ไนไตรท์เกิดจากกระบวนการย่อย แอมโมเนีย NH3 (จริง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนแอมโมเนียเป็นแอมโมเนียม NH4+ ด้วยกลไกลของ pH ในน้ำ ก่อนที่แบคทีเรียจะดำเนินการย่อยสลาย)
คุณสมบัติของไนไตรท์
ของเหลว ไม่มีสี เหมือนแอมโมเนีย เป็นโปรดัคที่เกิดจากแบคทีเรีย มีความเป็นพิษกับปลาทอง เหมือนกับแอมโมเนียคือมักจะแสดงอาการเป็นพิษบริเวณเหงือก การหายใจ และภูมิคุ้มกันโรค มีความเป็นพิษสูงกว่าไนเตรต
pH
ค่า pH นั้นมีผลมากกับการเลี้ยงปลาทอง เพราะค่า pH นั้นคือการวัดหรือการนับจำนวน H+ (ไฮโดรเจนไออน, โปรตอน) คือถ้ามี H+ มากค่า pH จะน้อยกว่า 7 เพราะมีสภาวะเป็นกรด สารพิษที่เกิดในระบบการเลี้ยงปลาทองนั้นตัวที่สำคัญเลยคือแอมโมเนีย NH3
แอมโมเนีย NH3 เกิดได้จากสองกิจกรรมภายในตู้คือ 1.การย่อยโปรตีนของปลาทองที่กินอาหารเข้าไป และ 2.การย่อยสลายของเสียภายในตู้ .... ซึ่งตัวที่ทางที่น่ากลัวก็คือการย่อยและการดูดซึมโปรตีน/อาหารของปลาทอง เพราะว่าจะได้แอมโมเนียในกระแสเลือด และเนื่องจากเป็นของเสีย ปลาจะต้องรีบขับออก ดังนั้นเรื่องจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงมาก ๆ ... เมื่อเราให้อาหารปลา กระบวนการย่อยของปลาจะกินเวลาประมาณ 8 - 10 ชั่วโมง และในช่วงนี้แหล่ะที่ปลาจะต้องปล่อยแอมโมเนียออกมา ..... ต่างจากแอมโมเนียที่มาจากแหล่งที่สองคือ แอมโมเนียที่มาจากการย่อยสลายอินทรีย์สารต่าง ๆ ในระบบเลี้ยง ซึ่งกระบวนการนี้จะปล่อยแอมโมเนียออกมาเบา ๆ และแบคทีเรียในตู้ก็สามารถที่จะรับมือได้
การมีค่า pH ที่น้อย จะทำให้แอมโมเนีย ( NH3 ซึ่งมีพิษ) กลายเป็นแอมโมเนียม ( NH4+ ไม่มีพิษ)
pH เป็นปัจจัยเบื้องต้นที่จะบอกเราว่าเราจะสามารถเลี้ยงปลาทองได้อย่างง่ายหรืออย่างอยาก หากเราดูข้อมูลการเลี้ยงปลาทองของผู้อื่น บ้างก็ว่าปลาทองเลี้ยงง่าย บ้างก็ว่าปลาทองเลี้ยงยาก ไม่ต้องแปลกใจ เพราะ pH ของน้ำที่ใช้ในแต่ละท้องที่นั้นมีค่าแตกต่างกัน นั่นก็คือน้ำที่แต่ละคนใช้จะมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างต่างกัน pH ที่ใกล้เคียง 7 หรือต่ำกว่า 7 นิดหน่อยจะทำให้การเลี้ยงปลาทองเป็นเรื่องง่าย
การมี pH ที่ดี ๆ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการกำจัดของเสีย บางบ้านจะสามารถใช้การเปลี่ยนน้ำในการกำจัดของเสียได้เลย ไม่ต้องใช้ระบบกรองชีวะภาพ เพราะกรองชีวภาพนั้นเข้าใจยากเป็นเรื่องของแบคทีเรีย ผู้เลี้ยงบางท่านไม่เข้าใจก็จะไม่สามารถคงสภาพของกรองชีวะภาพให้ทำงานตลอดได้ เช่นมีการเปลี่ยนน้ำใหม่หมด ทำให้ระบบแบคทีเรียล่มไปก็มี .... บางบ้านเขาจะสามารถใช้วิธีเปลี่ยนน้ำใหม่หมดได้เพราะในที่ที่เขาอยู่ แหล่งน้ำที่เขาใช้นั้นมีค่า pH ที่ดี (ใกล้เคียง 7± ) เพราะฉะนั้นเราอาจจะคุ้นเคยกับการทำความสะอาดระบบเลี้ยงปลาทองด้วยการเปลี่ยนน้ำใหม่ แต่ให้พึงระวังเพราะใช้ไม่ได้ในกรณีที่น้ำใหม่ของเรานั้นค่า pH สูงกว่า pH เดิมในตู้ปลา อาจจะส่งผลเสียได้
ถ้าเรามีน้ำที่ pH ดี ๆ คือเราได้เปรียบในเรื่องของการจัดการของเสีย กรองชีวะภาพจะต้องใช้เวลาในการจัดการของเสีย แต่ถ้ามีน้ำที่ pH ต่ำ ๆ (หมายถึงใกล้เคียง 7) จะสามารถใช้วิธีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อกำจัดของเสียได้อย่างรวดเร็วทันใจกว่า
ปัญหาอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนน้ำคือ เราจะไม่รู้ว่าน้ำที่เราใช้นั้นมี pH เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ยิ่งโดยเฉพาะการเลี้ยงตามบ้านที่อาศัยน้ำประปาเป็นหลัก ค่า pH ของน้ำประปาจะขึ้นอยู่กับแหล่งที่การประปาเอาน้ำดิบตรงพื้นที่นั้น ๆ มาใช้ โดยส่วนตัวของผมผมพบว่าน้ำประปาในช่วงฤดูฝนนั้น pH จะมีแนวโน้มที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงฤดูร้อน ซึ่งผมคาดว่าน่าจะมาจากน้ำฝนตกลงบนภูเขาหินที่มีหินปูน และเมื่อไหลลงแม่น้ำ ก็นำเอาความเป็นด่างที่ได้จากการชะหินปูนลงมาด้วย ซึ่งเป็นกลไกลทางธรรมชาติที่จะรักษาค่า pH ของน้ำ ไม่งั้นน้ำก็จะมีแนวโน้มเป็นกรดมากขึ้นตลอดเวลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น