วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

Nitrifying Bacteria - แบคทีเรียที่ย่อยสลายแอมโมเนีย&ไนไตรต์


แบคทีเรีย หรือ จุลินทรีย์

แบคทีเรีย หรือ จุลินทรีย์ก็เป็นคำ ๆ เดียวกัน แต่ แบคทีเรีย เราพูดทับศัพท์ภาษาอังกฤษ มาจากคำว่า Bacteria ส่วนจุลินทรีย์อันนี้เป็นคำภาษาสันสกฤต ก็คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ดังนั้นบ่อยครั้งผมมักจะพูดทั้งสองคำ แต่มันก็คือคำเดียวกันนะครับดังนั้นอย่า"งง"นะครับ


โดยพื้นฐานแล้ว เรามีแบคทีเรียอยู่ในโลกจำนวนหลากหลายชนิด แบคทีเรียมีหลายสายพันธุ์และยังเกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้เสมอ ในบรรดาหลายชนิดก็มีการจัดแบ่งได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามรูปทรง, แบ่งตามแกรมบวกแกรมลบ, แบ่งตามชนิดของอาหาร

ถ้าแบ่งตามการมีประโยชน์นั้น กล่าวกันว่า เราจะมีแบคทีเรียที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษราว ๆ 80% ของแบคทีเรียทั้งหมด, แบบที่ก่อให้เกิดโทษ อีก 10% และ ก่อให้เกิดประโยชน์คือนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก 10%

Nitrifying Bacteria นั้นเป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เราจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการการกำจัดของเสียในตู้ปลา  บ่อยครั้งเมื่อคุณได้ศึกษาค้นคว้าการเลี้ยงปลาทอง คุณมักจะเจอคำว่า "วัฏจักรไนโตรเจน" หรือ Nitrogen Cycle ก็คือกระบวนการแปรสภาพของของเสียของปลาที่เกิดขึ้นในระบบเลี้ยง จากความเป็นพิษสูง ก็คือแอมโมเนีย ไปจนถึง ความเป็นพิษต่ำ ก็คือ ไนเตรต

แบคทีเรียที่กล่าวถึงนี้เป็นตัวแปรสำคัญในการเลี้ยงปลาทอง(หรือปลาต่าง ๆ) พอเข้าใจเราก็จะสามารถวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของแบคทีเรียกลุ่มนี้ได้ และก็สามารถทำให้เราเลี้ยงแบคทีเรียกลุ่มนี้ไว้ในช่องกรองของเรา โดยไม่ทำมันตายเสียก่อน เมื่อแบคทีเรียไม่ตายของเสียก็จะถูกแปรสภาพให้เป็นพิษน้อยลง จนทำให้ปลาทองของเราไม่ป่วย











เมื่อได้พิจารณาข้อมูลของ Nitrifying Bacteria ข้างต้นแล้วจะพบว่า แบคทีเรียกลุ่มนี้ไม่มีสปอร์ ทำแห้งไม่ได้ ดังนั้นแบคทีเรียสำเร็จรูปที่ขายท้องตลาด จะเป็นแบคทีเรียอีกกลุ่มหนึ่ง ที่โดยมากก็คือแบคทีเรียกลุ่ม Bacillus Subtilis  แต่เรื่องนี้ก็จะยังไม่พูดถึง แต่เกริ่นคร่าว ๆ ว่ามีประโยชน์ และช่วยเราในการเลี้ยงปลาแน่นอน พอรู้ประโยชน์ก็จะทำให้ทราบถึงวิธีการเอาแบคทีเรียกลุ่มนี้มาใช้ประโยชน์ แต่ที่แน่ ๆ คือแบคทีเรียกลุ่มนี้ไม่ได้นำมาใช้ในการกำจัดของเสียที่มีพิษรุนแรงจากปลาทอง (ซึ่งหมายถึง ammonia) ไว้ค่อยจะเขียนถึงในภายหลังนะครับ ดังนั้นจึงขอจบบทความนี้ด้วยคำว่า "โปรดติดตามตอนต่อไป นะครับ".


วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2563

ยาต่าง ๆ ที่มักจะพูดถึง ถ้าคุณหลงทางเข้าไปในกลุ่มคนที่เลี้ยงปลาทอง


ยาที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปลาทอง
---------------------------------------------

เรามาทำความรู้จักกับปลากันบ้างดีกว่า อย่างน้อยสำหรับคนที่เพิ่งตกหลุมรักปลาทอง เลี้ยงปลายังไม่เก่งก็จะเจอปัญหาการเลี้ยงปลาทอง ก็ปวดหัวกันไป ก็ต้องพึ่งยาในการรักษา บทความนี้ก็จะพยายามรวบรวมข้อมูลยาที่มักจะถูกพูดถึง หรือเวลาไปร้านขายปลาจะไปซื้อยาปลาจะได้เห็นหน้าตาคร่าว ๆ หรือบางร้านยาบางอย่างไม่มี อันไหนพอจะแทน ๆ กันได้บ้าง มีสรรพคุณทางเดียวกัน



ยาเหลือง
ยาเหลืองญี่ปุ่น

ยากลุ่มนี้ใส่แล้วน้ำจะออกเป็นสีเหลือง ใช้ได้ผลดีกับอาการหางเปือย ครีบเปื่อย ปากเปื่อย เป็นยาที่พูดถึงทั่ว ๆ ไป หรือใช้ในกรณีที่ปลาป่วยแบบไม่ทราบสาเหตุก็ใช้กัน เช่น ตกเลือด หรือปลามีความผิดปกติใด ๆ ฯลฯ ก็จะได้ยินคำแนะนำว่า "ให้เอาปลาไปแช่ยาเหลือง" ก็คือ "ยาเหลืองญี่ปุ่น" ซองขวามือสุด ที่มีแต่ภาษาญี่ปุ่น นี่หล่ะยอดฮิตติดตลาดเป็นเวลานาน ราคาก็ขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ ซองแค่นี้ก็ 80 บาทแล้ว ปัจจุบันน่าจะราคามากกว่านี้นะ

ว่ากันว่ามีของปลอมด้วยนะ ตาดีได้ตาร้ายเสีย ตัวใครตัวมันหล่ะกันนะ ... ยาเหลืองยังมีอีกหลากหลายยี่ห้อนะครับในตลาด ไม่ว่าจะเป็นยาเหลืองเซนสุ, ยาเหลืองน้ำ และยังคงมีต่อเนื่องอีกเรื่อย ๆ เพราะเป็นยาสามัญประจำบ้านของคนเลี้ยงปลาทองเลย

สำหรับต่างประเทศอาจจะหายาเหลืองญี่ปุ่นตรงตัวยาก ก็อาจจะใช้ยาที่ชื่อว่า Acriflavine ซึ่งมีสรรพคุณในการรักษาโรคเปื่อย แบคทีเรียกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคหางเปื่อยได้ดี






มาลาไคท์
- กลุ่มนี้ใส่แล้วน้ำจะออกเป็นสีเขียว
- ไม่ควรใช้กับปลาที่เอามาบริโภคเป็นอาหารเพราะเป็นสารก่อมะเร็ง

ได้ผลดีกับการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว โดยทั่ว ๆ ไป แต่ระวังเรื่องยาหมดอายุ มีรายงานว่าจะเป็นพิษเมื่อหมดอายุ

Super Ich (white crane) : ใช้รักษาโรคจุดขาวเป็นยาที่เป็นส่วนผสมระหว่างมาลาไคท์ กับฟอร์มาลิน รักษาจุดขาวได้ผลดีเยี่ยม สามารถนำไปประยุกต์ใช้รักษาโรคประเภทอื่น ๆ ที่เกิดจากโปรโตซัวได้อีกด้วย





เมธิลีนบลู (Methylene Blue) :
ใส่แล้วน้ำเป็นสีฟ้า - ไม่ได้เกิดจากเอายาเหลือง มาผสมกับมาลาไคท์แต่อย่างใด

ยากลุ่มนี้ใช้ในการขนส่งปลา นอกจากจะสามารถฆ่าเชื้อได้แล้ว ยาช่วยให้อ็อกซิเจนละลายในเลือดปลาได้ดีขึ้นอีกด้วย ใช้ในกรณีที่ปลาป่วยจากพิษแอมโมเนีย ไนไตรต์ กรณีปลาเหงือกเสียหาย นิ่งซึม ไม่ว่าย หายใจเบา ๆ อยู่ก้นตู้ หรือเริ่มแสดงอาการเหงือกอักเสบเช่นว่ายส่ายอยู่บริเวณผิวน้ำ แต่อย่าลืมว่าต้องวิเคราะห์าการปลาเป็นด้วย ยาทุกชนิดใส่จะต้องมั่นใจว่าน้ำสะอาด และปลาที่กินอาหารได้ และเพิ่งได้กินอาหารไปก่อนจับแยก อาจจะมีแอมโมเนียติดค้างในตัว อาการพิษแอมโมเนียนี้มักจะเป็นต่อเนื่อง คือตอนแยกรักษาจะต้องใช้น้ำเยอะ ๆ เพราะปลายังสามารถขับแอมโมเนียได้จึงทำให้น้ำเป็นพิษได้อีก อาจจะต้องมีการเปลี่ยนน้ำเปลี่ยนยาอีกรอบหลังจากที่จับปลาแยกออกมาแล้วในระยะเวลาอันสั้นเช่น 4 - 8 ชั่วโมงหลังจับแยก มิฉะนั้นการใส่ยาอาจจะไม่ได้ผลเพราะน้ำยังมีแอมโมเนียที่ค้างจากปลาและถูกขับออกมาระหว่างรักษาได้

ใช้รักษาโรคจุดขาว หรือติดเชื้อแบคทีเรียได้ดี เรียกว่าสารพัดประโยชน์พอตัวเลยทีเดียว ควรมีติดบ้านไว้เหมือน ๆ กับที่มียาเหลืองติดบ้าน


ใช้ในการเคลื่อนย้ายปลา เนื่องจากคุณสมบัติคือช่วยให้อ็อกซิเจนละลายในเลือดได้ดี และยังเป็นยาที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และโปรโตซัวได้บางชนิดด้วย จึงนิยมใช้มากในการขนส่งปลา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาปลามีอาการป่วยระหว่างขนส่งได้ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งด้วยในเรื่องการของการเตรียมการแพ็คปลาเพื่อขนส่งก็มีรายละเอียดอื่นอีกพอสมควร นอกเหนือจากเรื่องการใช้เมธิลินบลูในการแพ็คปลาเพื่อขนส่ง




เกลือทะเล , เกลือสมุทร
เกลือ , เกลือสมุทร NaCl (โซเดียมคลอไรด์)

ใช้ในการลดพิษของไนไตรต์ ช่วยปรับสมดุลแร่ธาตุอิเล็คตอไลต์ของปลากับน้ำ แม้ว่าปลาทองจะเป็นปลาน้ำจืด แต่ก็มีความสามารถในการต้านทานเกลือได้สูงพอสมควร แต่เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ก่อให้เกิดโรคก็อ่อนแอลงเมื่อเจอกับเกลือ จึงมักจะใช้รักษาอาการตกเลือดเล็กน้อย

บางคนเติมเพื่อให้ปลาสดชื่น การเติมเกลือสามารถเติมได้ไม่ผิดแต่อย่างใด เพราะเป็นการช่วยลดความแรงของเชื้อโรคในน้ำได้ บางครั้งปลาดูไม่ค่อยร่าเริงหลังเปลี่ยนน้ำเยอะ ๆ ก็สามารถเติมเกลือลงไปเล็กน้อย ปลาก็สามารถกลับมาร่าเริงได้

เวลารักษาโดยมากมีหลายสูตรมาก หลายความเข้มข้น ตัวอย่างที่ใช้กันบ่อยก็ 5 - 10 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือจะมากกว่าก็ไม่เป็นไร

ถ้าใช้แบบปกติก็จะอยู่ราว ๆ 3 - 5 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร

เวลาใช้ก็ระวังเกลือ และความเค็มสะสมด้วย แม้ว่าเกลือจะละลายน้ำแต่ในน้ำก็มีเกลืออยู่นะ

บางพื้นที่อาจจะเป็นเกลือสินเธาว์ หรือเกลือหิน อันนี้มีข้อมูลไม่ชัดเจนว่าใช้แทนกันได้ไหม และไม่ควรใช้แบบที่ผ่านเติมเพิ่มไอโอดีน

การเกิดแผลก็สามารถใช้เกลือเพื่อรักษาการเสียสมดุลภายในตัวปลาได้ เช่นถ้าเป็นแผลใหญ่ ๆ มีบริเวณกว้างก็สามารถใช้เกลือ เพื่อเพิ่มไอออนในน้ำปลาจะได้ไม่เสียของเหลวออกทางปากแผลมากเกินไป


ดีเกลือฝรั่ง, แม็กนีเซียมซัลเฟต (Magnesium Sulfate)

ดีเกลือฝรั่ง (เน้นว่าต้องฝรั่ง) แมกนีเซียมซัลเฟต MgSO4

ใช้เพื่อให้ปลาเกิดภาวะผ่อนคลาย ใช้ในตอนปลาเริ่มมีอาการเสียการทรงตัว สารนี้พบอยู่ในยาระบายเด็กด้วย เผื่อใครที่เคยเจอว่าให้ป้อนยาระบายเด็กกับปลาที่เสียการทรงตัว

ไม่ช่วยกรณีที่ปลาเสียการทรงตัว หงายท้อง อันเนื่องมาจากสาเหตุของการติดเชื้อ ช่วยในตอนที่ปลาเสียการทรงตัวเนื่องจากความเครียด ปลาไม่ได้ติดเชื้อแต่ปลานอนนิ่ง ๆ ไม่ยอมว่าย โดยใส่ลงในน้ำสะอาด น้ำใหม่ ตอนรับปลาใหม่เข้าบ้าน ปลาที่ผ่านการขนส่งมาแสดงอาการเครียด ก็สามารถใช้ดีเกลือช่วยลดความเครียดได้

ปริมาณการใช้ก็มีหลายสูตรอีกเหมือนกัน ว่ากันว่าประมาณ 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 20 ลิตร

ถ้าไม่อยากให้ปลาเสียการทรงตัว ต้องทำให้น้ำมีระบบกรองชีวภาพที่แบคทีเรียทำงานได้ดี จะบอกลาโรคเสียการทรงตัวได้จริง ๆ นะจะบอกให้

บางทีอาจจะได้ยินชื่อ "แม็กนีเซียมซัลเฟตเฮปต้าไฮเดรต" ก็ใช้ได้เหมือนกัน



ฟอมาลิน และ กลูตารัลดีไฮด์

ฟอร์มาลิน (Formalin)
----------------------------------------------
ในตลาดอาจจะมี 40% วางขายปน ๆ กันก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่โดยทั่ว ๆ ไปก็จะเป็นแบบ 37% หาซื้อได้ตามร้านขายยาคนร้านใหญ่ ๆ จะมีขาย ตอนไปซื้อก็ซื้อไซริ้งค์ ขนาด 1cc มาด้วยเลย เพราะเป็นของเหลวต้องตวงหน่วยเป็น cc (หรือ ml) อยู่แล้ว

การใช้โดยทั่ว ๆ ไป ก็จะใช้อยู่ที่ 0.0125 ml/Litre ก็คือ น้ำ 1 ลิตรใส่ยาลงไป 0.0125 ml หรือ น้ำ 20 ลิตร ใส่ฟอมาลิน 0.25 ml ก็ค่าเดียวกัน... แต่บางตำราก็ใส่เข้มข้นกว่านะ

ส่วนใหญ่ใช้ในการฆ่าเชื้อตัวใหญ่ขึ้นมาจากแบคทีเรีย เช่นโปรโตซัว ปลิงใส อิ๊ค(หรือจุดขาว)

ข้อได้เปรียบคือ ไม่ทำกรองชีวะภาพล่ม ดังนั้นอาจจะใช้รักษาอิ๊คควบคู่กับฮีทเตอร์ได้เลย

ถ้าสังเกตเห็นว่ามีตะกอนอยู่ด้านล่างขวด ก็อย่าใช้เพราะมันหมดอายุและมันจะเป็นพิษ

กลูตารัลดีไฮด์
------------------------------
ตัวนี้ค่อนข้างครอบจักรวาลมาก ๆ ตามสรรพคุณที่เขาเขียนไว้หลังฉลาก แต่กลิ่นก็จะมาแนวเดียวกับฟอมาลิน ใช้ความเข้มข้นน้อยกว่ามาก แนวทางการใช้เป็นแนวเดียวกัน แต่ไม่มั่นใจว่าแบคทีเรียในกรองชีวะภาพจะเป็นอันตรายหรือไม่ เพราะแอดไม่เคยลองใช้ในตู้ใหญ่สักที ยาใช้ความเข้มข้นน้อยมากจึงอาจจะเหมาะกับการเลี้ยงที่มีสเกลใหญ่ เช่น เลี้ยงในบ่อ

ระวังเรื่องยาหมดอายุด้วย



ยากลุ่มกำจัดปรสิตภายนอก

กลุ่มกำจัดปรสิตภายนอก

ปรสิตภายนอกที่เรามองเห็นก็ส่วนใหญ่จะเจอบ่อยที่สุดก็คือเห็บระฆัง, หนอนสมอ (ไปหาดูหน้าตากันเอาเอง ใครใจดีลงรูปใต้นี้ก็ได้นะครับ)

ส่วนที่มองไม่เห็นก็จะเป็นปลิงใส (Fluke) มีสองประเภทคือปลิงใสเหงือก และปลิงใสติดตามตัว

เดพเพอร์เร็กซ์
--------------------
จัดว่าเป็นยาที่แรงมาก เหมาะสำหรับการเลี้ยงสเกลใหญ่ครับ เพราะใช้ยาน้อยมาก

ดีมิลิน
---------------------
ถ้าคุณพบเห็นเห็บระฆังหล่ะก็ดิมิลินสิ ใส่ไปไม่นานเห็บหลุดออกมาหมุนเลย แล้วปลาทองคุณก็จะงาบ เป็นยาที่ได้ผลมากกับเห็บปลา และหนอนสมอ (แต่ไม่ใช้ในการรักษาปลิงใสนะครับ)

Praziquantel (พราซี่)
-------------------------------
ตัวนี้ข้อเสียคือละลายน้ำยาก แต่ได้ผลดีกับปลิงใส (ผมเองก็ไม่มีกล้องจุลทรรศน์เลย ไม่ได้วัดประสิทธิภาพแบบเห็นกับตาสักที) แต่ทั่วโลกบอก กับปลิงใสนี้ใช้พราซี่ดีที่สุดและ

ยากลุ่มนี้จะส่งผลกระทบกับปลาด้วย แนะนำว่าควรเตรียมน้ำให้อยู่ในสภาพดี และงดอาหารปลา ปลาที่ติดปรสิตนั้นไม่ได้ทำให้ปลาตายไว (นอกจากจะพบร่วมกับสาเหตุอื่นเช่นน้ำเสีย น้ำไม่ดี อันนี้ก็จะทำให้ปลาตายเพราะน้ำไม่ดี ไม่ได้ตายเพราะปรสิต) ดังนั้นเมื่อเจอปรสิต ก็ใจเย็น ๆ ไม่ต้องตระหนกมาก เตรียมน้ำ เตรียมงดอาหารปลาสักวันเพื่อให้ปลาแข็งแรง ใส่ตามโดสที่กำหนดอย่างเคร่งครัด (ยกเว้นพราซี่ที่เกินโดสได้ไม่เป็นไร)

ยากลุ่มนี้เมื่อใส่แล้วแช่ปลาไว้ 1 คืน ก็ควรเปลี่ยนน้ำออกบ้าง แล้วพอผ่านไปอีก 3 วันก็ใส่อีกรอบ ถ่ายน้ำ แล้วก็ซ้ำอีกสักรอบเมื่อผ่านไปอีก 3 วัน เพื่อกำจัดปรสิตให้ครบวงจรชีวิต

ควรใส่ช่วงเย็นเพราะยากลุ่มนี้โดนแสงแล้วเสื่อมสภาพนะ

ปล. ยังมีอีกสองยี่ห้อคือท็อป และ ไซเตส ใครมีภาพลงใต้คอมเม้นต์ให้ทีนะครับ ขอบคุณครับ




ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) : หาซื้อได้ตามร้านขายยาคน

คนมักเรียกว่ายาแก้อักเสบ แต่เราจะเรียกว่ายาปฏิชีวนะ เพราะจะได้ไม่สับสนกับยาอีกกลุ่มหนึ่ง ยากลุ่มนี้ก็มีหน้าที่หลัก ๆ เลยคือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคยามที่ภูมิคุ้มกันปลาทองตกลงหรือลดลงด้วยสาเหตุใดก็ตาม

เวลาเราเลี้ยงปลาทอง ปลาทองของเรานั้นสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียที่ทั้งเป็นฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี(คือก่อให้เกิดโรคในปลาตลอดเวลา) แต่ปลาเราจะยังไม่แสดงอาการก็เพราะภูมิคุ้มกันของปลาทำงานป้องกันได้ดีตลอดเวลา ทำให้เชื้อโรคไม่เพิ่มจำนวนขึ้นภายใน/ภายนอกตัวปลาและสร้างปัญหาให้ปลา

แต่เมื่อใดที่ภูมิคุ้มกันปลาตก ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ เลยก็คือมักจะมาพร้อมกับคุณภาพน้ำที่แย่ คุณภาพน้ำที่ไม่ใช่ ส่งผลให้ปลาทองเครียด และภูมิคุ้มกันปลาทองลดลงในท้ายที่สุด เชื้อโรคเหล่านี้ก็จะรุมเล่นงานปลาคุณทันที

เชื้อแบคทีเรียที่เล่นงานปลาทองคุณนั้นก็จะมีหลากหลายสายพันธุ์ แล้วแต่เลยว่าจะโดนตัวไหนเข้าไป และจะโดนมากกว่า 1 ตัว

ยากลุ่มนี้จะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เล่นงานปลาทองที่อ่อนแอ รวมไปถึงแบคทีเรียทั่ว ๆ ไป แบคทีเรียดี (คือแบคทีเรียที่ไม่ก่อให้เกิดโรค)ก็โดน การใช้ยาปฏิชีวนะก็เหมือนกับการยิงนิวเคลียร์เข้าใส่คนร้ายที่อยู่กลางคนบริสุทธิ์นั่นแหล่ะ

เพราะฉะนั้นการใช้ยากลุ่มนี้ควรแยกปลาออกมาจากระบบเลี้ยงเสียก่อน เพราะแบคทีเรียกลุ่มที่ย่อยสลายของเสียที่อยู่ในตู้ของเราจะได้ไม่โดนลูกหลง เอาปลาทองตัวที่ป่วยมารักษา จนกว่าภูมิคุ้มกันเขาจะกลับคืนมาแข็งแรง จึงย้ายกลับไปไว้ในตู้

สิ่งสำคัญกว่าการให้ยาคือทำอย่างไรให้เลี้ยงปลาทองเรามีภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อต้านแบคทีเรียเหล่านี้ได้ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็นนะ ไม่มียาปฏิชีวนะขนานใด ๆ ดีไปกว่าภูมิคุ้มกันของปลาทองเอง

ยากลุ่มนี้หลัก ๆ จะเก่งกับเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ที่ใช้อากาศในการหายใจ เป็นยาฆ่าเชื้อโรคแบบวงกว้าง กลไกลการทำงานของยาไปถามเภสัชเอานะ ซึ่งโรคที่เราเจอก็มักจะมาจากแบคทีเรียกลุ่มนี้

การตัดสินใจใช้ยากลุ่มนี้คือเราต้องการจะให้ยาซึมเข้าไปในตัวปลาด้วย เพราะบ่อยครั้งปลาเราป่วยคือเชื้อแบคทีเรียมันเข้าไปก่อกวนระบบภายในของปลาแล้ว ปลามักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการที่แสดงออกภายนอกคือ เราอาจจะเห็นปลามีอาการตกเลือด เกล็ดหลุด ครีบเปื่อย ครีบฉีกขาด ปากเปื่อย ร่วมกับการซึม เสียการทรงตัว ตาโปน ซึ่งเป็นอาการติดเชื้อภายใน

Tetracycline
-----------------------
เตตร้าไซคลิน (สั้น ๆ ก็เตตร้า) ก็คือชื่อตัวยา ส่วนท๊ซีมัยซินคือชื่อทางการค้า ก็นั่นแหล่ะนะ อาจจะใช้ยาตัวเดียวกันแต่ไปยี่ห้ออื่นก็คือเหมือนกัน เก่งกับแบคทีเรียแกรมลบ แบบใช้อ็อกซิเจน ก็คือทั่ว ๆ ไปนั่นแหล่ะ เป็นยาที่ถูกแนะนำให้ใช้มากที่สุด ใช้มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเป็นเม็ดดำแดง แดงดำ โน่นเลย

ผงมีสีเหลืองละลายน้ำได้ง่าย ละลายแล้วเวลาใช้รักษาปลาจะใช้คู่กับอ็อกซิเจนจะเห็นเป็นฟองฟอดเลย ไม่ต้องตกใจ

Amoxycillin แอมม็อกซี่
-----------------------------------
ยาติดตู้สามัญประจำบ้านมีกันทุกบ้าน และก็มีหลายสีมากแล้วแต่เลย แตกต่างตรงที่เก่งกับแบคทีเรียแกรมบวกบางตัวนะ ก็มีหลายคนที่แนะนำให้ใช้ คือถ้าใช้แล้วมันเวิร์กก็โอเค แต่ถ้าไม่เวิร์กอาจจะต้องพิจารณาในการใช้ยาตัวอื่น

ละลายน้ำยากหน่อยแต่ก็ละลายได้ใช้เวลาไม่นาน ผงสีขาว เวลาใช้แกะเอาผงในแคปซูล

Doxycycline
--------------------------------
ยารักษาสิว อันนี้ก็เป็นอีกตัวคล้ายกับเตตร้าฯ ผงสีเหลืองเหมือนกัน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพราะมีรายงานว่ายาตัวนี้เชื้อดื้อยาน้อยกว่าเตตร้า สรรพคุณในการใช้รักษาปลาทองก็เหมือนเตตร้าฯเลย

Metrodinazole
----------------------------------------------
ตัวนี้ใช้ในกรณีแบคทีเรียที่ไม่ใช้อ็อกซิเจนในการหายใจ ในกรณีที่เป็นโรคหัวรู คือเป็นแผลโบ๋ ๆ ที่วุ้น เหมือนปลาทองโดนตัวอะไรกินวุ้นหายไป หรือบางทีก็วุ้นแดงอักเสบ อาจจะใช้คู่กับยาที่ใช้รักษาโรคปลิงใสในบางครั้ง

ยากลุ่มนี้ต้องพยายามอัพเดทตัวเองตลอดเวลานะครับเพราะเชื้อจะดื้อยาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เมื่อเชื้อดื้อยาก็จะทำให้ยาไม่ได้ผล ก็ควรจะต้องศึกษาเพิ่มเติมกันอยู่ตลอด มียาใหม่ ๆ มาให้ลองใช้ได้ตลอด




ยาปฏิชีวนะ

กลุ่มนี้มักหาได้จากร้านขายสัตว์เลี้ยงนะครับ ก็หน้าที่เหมือนกันแหล่ะครับคือยับยั้งแบคทีเรีย ทีนี้ในบางตัวอย่าง นอร์ฟล็อกซาซิน กับ เอ็นโรฟล็อกซาซิน จะได้ผลดีกับระบบภายในของปลาทองมากกว่า

อย่างที่บอกก็ต้องหาข้อมูลกันไปยาพวกนี้จะมียาตัวใหม่มาหลอกเราเรื่อย ๆ นะครับ มันคือการสู้รบกับแบคทีเรียครับ แบคทีเรียก็มีการสู้กลับเหมือนกันด้วยการต่อต้านยา




Seachem - Prime , Seachem - Safe

ไม่ใช่ยานะครับตัวนี้เป็นน้ำยาปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาทอง โดยจะลดคลอรีนนะครับหลัก ๆ

อันนี้อาจจะได้ยินบ่อย ๆ ขึ้นในระยะหลังเมื่อเร็ว ๆ นี้ บางทีเห็นในคอมเม้นต์ หรือคำตอบ/คำถามจะเห็นการพูดถึงคำว่า "Prime" สั้น ๆ ก็เป็นสารเคมีในการลดคลอรีน ซึ่งผมได้เคยสอบถามไปยังทางผู้ผลิตอเมริกา เขาบอกว่าจะแก้น้ำที่มีคลอรีนได้ 5 ppm เลยทีเดียว ถ้าใช้ตามโดสที่เขาแนะนำคือ 1cc : น้ำ 40 ลิตร (สระว่ายน้ำมีคลอรีนประมาณ 2 ppm) นั่นคือใส่ครึ่งเดียวตามโดสก็ควรเอาคลอรีนในน้ำประปาได้อยู่หมัด ซึ่งมีความเข้มข้นของคลอรีน/คลอรามีน ไม่เกิน 1 ppm

และยังเป็นตัวช่วยลดพิษแอมโมเนีย ไนไตรต์ ไนเตรตได้ด้วย ผมทดสอบแล้วลดได้จริง! (หรือโกหกไม่รู้แต่ตัวเทสแอมโมเนียผมบอกว่าลดลงนะ)

โอเคถ้าได้ยินคำว่า Prime ก็คือตัวนี้นี่แหล่ะหน้าตาแบบนี้ หาซื้อได้ที่ร้านรีเพ็ทบลิค จตุจักร ซึ่งเป็นเจ้าเดียวที่นำเข้ามาขายนะ สั่งได้ทางเฟซบุ๊คหรือช่องทางออนไลน์ด้วยหากใครไม่สะดวกเดินทาง (ได้ค่าโฆษณาร้านเท่าไหร่วะเนี่ย) หรือจะสั่งผ่านทาง ebay ก็ได้ แต่ผ่านทาง ebay แพงกว่าหน่อยประมาณร้อยหนึ่งได้ เรียกว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายของ Seachem ในประเทศไทย

ก็เหมาะสำหรับมือใหม่ที่ไม่มั่นใจเรื่องของน้ำนะ ลดคลอรีนได้ ลดแอมโมเนียได้ ก็จะช่วยลดการสูญเสียไปได้นะครับ มือเก่าที่จัดการระบบน้ำระบบของเสียจนคล่องแล้วก็ข้ามได้

ส่วน Seachem - Safe มันก็คือ Prime ในเวอร์ชั่นผงนั่นแหล่ะครับ



เกลือไบโอซอล์ท

เกลือไบโอซอล์ท

เกลือคุณภาพสูงผสมยาเหลือง - อ็อกซี่เตรตตร้าไซคลิน สามารถใช้รักษาและควบคุมโรคที่จะเกิดขึ้นกับปลา เช่น โรคเน่าเปื่อยตามลำตัวหรือที่หาง โรคตกเลือด-ตาโปนจุดขาว หนอนสมอเห็บ และอาการซึมอ่อนเพลียเบื่ออาหาร

วิธีใช้ : ใช้ยาเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 15 ลิตร
ควรใช้เมื่อเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกครั้ง
เกลือไบโอซอล์ทนี่ก็เหมือนไมโล 3 in 1 ก็คือมีทั้งเกลือ ยาเหลือง และยาปฏิชีวนะ(อ็อกซี่เตตร้าไซคลิน) ก็ถ้ามีติดบ้านไว้ก็ดี น่าจะเหมาะกับอาการเปื่อยเป็นหลัก การใช้ก็ตามที่ระบุ ก่อนใช้ก็คือต้องเตรียมน้ำสะอาดมาก ๆ จากนั้นละลายเกลือกับน้ำให้เรียบร้อยตามปริมาณที่เขาระบุคือ 1 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 15 ลิตร แล้วนำปลาทองตัวที่ป่วยมาปล่อยลงไป

เรื่องการแก้เห็บ/หนอนสมอนี้คิดว่าไม่น่าจะทำได้ โดยดูจากส่วนผสม น่าจะเป็นยาใช้รักษาโรคกลุ่มแบคทีเรียเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องของการรักษาจุดขาวคิดว่าคือเมื่อปลาแข็งแรงขึ้นโดยการใช้ยาช่วยจุดขาวก็สามารถจะหายไปได้เช่นกัน แต่อาจจะไม่ได้มีส่วนผสมที่กำจัดจุดขาวโดยตรง เน้นทำให้ปลาแข็งแรงแล้วจุดขาวหายไป

พยายามใช้น้ำเยอะ ๆ เช่น 30 ลิตร เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ โดยรวมก็อาจจะดูแพงไปหน่อย แต่ก็สะดวกดี เหมาะกับอาการโรคเปื่อย ตกเลือดที่สุด ซึ่งเป็นอาการที่มือใหม่มักจะพลาดบ่อย เพราะคุมคุณภาพน้ำยังไม่นิ่