วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

เคล็ดลับการเลี้ยงปลาทองอย่างไรไม่ให้ตายง่าย ๆ

หลังจากที่เขียนเกริ่นวิธีการเลี้ยงปลาทองคร่าว ๆ ไปเมื่อหลายปีที่แล้ว หลังจากเลี้ยงมาหลายปีก็เก็บความรู้เก็บประสบการณ์มากขึ้น ถึงแม้ว่ายังมีอีกหลายเรื่อง ที่ยังไม่รู้ คือจริง ๆ แล้วก็ควรจะไปเรียนทางหมอรักษาปลาทองเลยน่าจะดีนะ คือเรื่องรักษานี้ผมบอกตรง ๆ เลยว่าก็ยังไม่เก็ทอยู่ดี

โรคที่พอจะรักษาได้ง่ายหน่อยก็คือพวกปรสิตภายนอก พวกหนอนสมอ หรือเห็บปลา อันนี้รักษาง่ายครับเราพอมองเห็นอาการเพราะมันเกิดภายนอก แต่พวกโรคภายในนี้บอกเลยว่าผมเองก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะนำปลาป่วย มารักษาให้หายขาด คือทำได้อย่างมากก็แค่ยื้อ  คือผมจะดูว่าถ้ารักษาแล้วกลับมาสภาพเดิมได้คือร่าเริงแข็งแรงตลอดเวลาอันนี้คือสำเร็จ แต่เท่าที่รักษามาคือไม่เป็นอย่างนั้น บางตัวก็มีดีขึ้น แล้วก็ทรุดลงไปตาย อย่างงง ๆ

บทความนี้หลัก ๆ ก็คือจะเป็นหลักการคร่าว ๆ ที่จะอธิบายให้เห็นภาพกันว่าทำไมปลาทองตาย  แต่จะไม่พูดถึงพวกปรสิตภายนอก เป็นเคล็ดลับการเลี้ยงปลา คำอธิบายหรือสมมติฐานของผมปน ๆ กันไป ซึ่งได้มาจากการหาข้อมูลบ้าง ติดตามกระทู้จากเว็บบอร์ด pantip ในเรื่องของปลาทองบ้าง ก็จะเห็นว่าปลาทองตาย สาเหตุต่าง ๆ ของการตาย อาการก่อนตาย คนเลี้ยงมีปัญหาถามมา ก็มีคนตอบผมก็เข้าไปเก็บข้อมูล ผมเองก็เหมือนกันก็ยังเจอปัญหาปลาทองตายแต่ตอนนี้เริ่มเข้าใจอะไรมากขึ้น ก็คิดว่าน่าจะลดความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ปลาทองตายได้เยอะ ก็เลยเอามาแบ่งปันกันตามประสาคนรักปลาทอง

เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนที่เลี้ยง คนขาย เพราะร้านที่ผมไปซื้ออาหารปลา อุปกรณ์เลี้ยงปลา ผมแอบเห็นว่าเขาเองก็เข้าใจอะไรผิด ๆ อยู่พอสมควรเลยเหมือนกัน

อันดับแรกเลยผมขอเสนอแผนภาพอันนี้ครับ


ขอเริ่มจากเมื่อเรามีปลาทองนะครับ
1. เวลาเราให้อาหารปลาทอง ปลาทองที่แข็งแรงสมบูรณ์อยู่ในน้ำที่สภาพที่เหมาะสม ปลาทองก็จะเจริญอาหาร ก็กิน ๆ กินไม่ยอมหยุด ไม่ใช่ว่ามันไม่อิ่ม ไม่ใช่ว่ามันลืม ความจำสั้นว่ากินไปแล้ว ความเชื่อพวกนี้ผิดทั้งหมด  จริง ๆ แล้วธรรมชาติสร้างปลาทองขึ้นมาให้เป็นพวกกินซาก Scavenger เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพวกมันก็คือการย่อยอาหาร หรือจะเรียกว่าอะไรที่พอจะมีสารอาหารอยู่บ้าง ปลาทองก็จะกินได้  หรือจะพูดว่าเป็นการย่อยอาหารให้มีขนาดเล็กลง  เพราะฉะนั้นตามธรรมชาติอะไรที่ตกมาถึงปลาทองนี่ก็อาจจะเป็นของเสียของสัตว์ที่อยู่บนบกอีกทีก็เป็นได้  ถ้าเราให้อาหารมากเกินไปจนกระทั่งขี้มันเป็นอาหาร มันก็จะกินได้อีกรอบหนึ่งเลยหล่ะครับจนกว่าสารอาหารจะถูกเปลี่ยนไปจนหมด  ผมเข้าใจว่าปลาทองไม่มีกระเพาะอาหารนะครับ เพราะฉะนั้นคงไม่ได้กินกระเพาะปลา(ทอง)แน่นอน

เส้นทางลำเลี่ยงอาหารก็จะเป็นฟันแล้วก็เข้าไปสู่ลำไส้แล้วก็ย่อยสลาย / ดูดซึม ที่ลำไส้ แล้วก็ออกตูดเลย  ก็คือของเสียของปลาทองนั่นเอง ปลาทองก็มีฉี่นะครับ

ดังนั้นถ้าเราเลี้ยงปลาทองกันในตู้ก็ดี ในอ่างก็ดี สภาพคร่าว ๆ ของมันคือการอาศัยอยู่กับของเสียของมัน มันจะลำบากขนาดไหนให้ลองจินตนาการกันดูว่า ถ้าเราไปนั่งในห้อง ๆ หนึ่ง  มีเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่าง มีอาหารอร่อย มีอินเตอร์เน็ตให้เล่น มีแอร์พัดให้เห็น มีอากาศดี ๆ ให้เราหายใจสดชื่น มีเตียงใหญ่อันแสนนุ่มน่าจะหลับสบายให้นอน แต่บังเอิญว่าคนสร้างดันลืมสร้างส้วม อะไรจะเกิดขึ้น  เมื่อเราโคตรโชคดีได้ไปอยู่ในห้องนั้น  .... วันแรก ... วันที่สอง .... วันที่สาม .... วันที่ 4  5  6  7  8   เราฉี่ เราอึทุกวัน แต่ดันไม่มีส้วมเอามันออกไปให้ห่างจากตัวเรา   แล้วถ้าบังเอิญว่าแหม่มีสาวสวย หรือ หนุ่มหล่อ เข้ามาอยู่ร่วมกับเรา คือเราไม่ได้อยู่คนเดียวนึกถึงสภาพสิครับจะเป็นอย่างไร  นั่นแหล่ะครับพอจะเห็นภาพไหมครับ  อ่ะ ... อันนี้คือเบื้องต้นก่อนนะครับ


2. ของเสียที่เกิดขึ้นในระบบมีหลากหลายประเภท เช่น เศษขี้ปลาทองเอง ฉี่ก็ด้วย  อาหารที่เหลือ รวมไปถึงพวกเศษพืชที่ตายเช่นพวกตะไคร่น้ำ และรวมไปถึงพวกซากของสัตว์ที่ตายด้วย  ของเสียพวกนี้จะก่อให้เกิดแอมโมเนีย และไนไตรต์ ซึ่งสารสองตัวที่ว่านี้มีความเป็นพิษคือทำอันตรายปลาได้ดีนัก ถ้าแอมโมเนีย และ ไนไตรต์ เพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่อันตรายปลาก็จะเริ่มป่วย พอป่วยแล้วอาการก็จะกู่ไม่ค่อยกลับ เพราะเชื้อโรคได้เข้าแทรกซึมไปในตัวปลา แล้วก็นำไปสู่การตายของปลาทองนั่นเอง  บางกรณีก็จะตายช้าบางกรณีก็ตายเร็ว  บางทีก็ตายทีละมาก ๆ ยกเซ็ทก็มี หรือทยอย ๆ ตายจนหมดเซ็ท

ดังนั้นหัวใจหลักของผม ของบทความนี้ก็จะเป็นเรื่องของการควบคุมสารที่ว่า 2 ตัวนี้คือแอมโมเนีย กับไนไตรต์ ไม่ให้ไปทำอันตรายกับปลาทองครับ



3. ไนไตรต์และแอมโมเนียจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรีย ซึ่งแบคทีเรียในที่นี้คือแบคทีเรียดี  แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคนั้นก็ปน ๆ อยู่ในนี้แหล่ะ พอปลาอ่อนแอเมื่อไหร่แบคทีเรียดีจะไม่ทำอันตรายกับตัวปลา แต่ก็จะมีแบคทีเรียบางชนิด หรือหลาย ๆ ชนิด ที่ก่อให้เกิดโรคพอได้โอกาสปลาเราอ่อนแอเพราะแอมโมเนีย กับไนไตรต์เมื่อไหร่ แบคทีเรียไม่ดีพวกนี้จะลงโทษเราด้วยการทำให้ปลาทองของเราป่วยและตายลงไป

แบคทีเรียดีเหล่านี้ก็จะมีอาศัยอยู่ในระบบกรอง ตู้ปลาทองไม่ควรจะเป็นตู้ปลาโล้น ๆ จะต้องมีระบบกรองเข้ามาช่วย เพราะปลาทองนี่กินเก่งขี้เก่งมาก แถมอ่อนแออีกต่างหาก ถ้าเป็นตู้โล้น ๆ มีแต่หัวทราย อันนี้มีหวังที่ปลาจะตายได้ง่ายเนื่องจากพิษของแอมโมเนีย  เพราะแบคทีเรียดีนี้ก็ต้องการที่อยู่ อาหารและอ็อกซิเจนในการมีชีวิต จริง ๆ แล้วแบคทีเรียพวกนี้ก็ว่ายอยู่ในน้ำส่วนหนึ่ง แต่ถ้ามีระบบกรองจะทำให้แบคทีเรียพวกนี้มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นมากพอที่จะกำจัดแอมโมเนียให้เราได้ ปลาก็จะอยู่รอดปลอดภัยได้ดีขึ้น


4. หลังจากย่อยสลายแอมโมเนีย แล้วก็จะได้เป็นไนเตรตออกมา ไนเตรตนี้ความเป็นพิษเรียกว่าน้อยมาก น้อยกว่าไนไตรต์และแอมโมเนียเยอะ คือไนเตรตจะต้องเข้มข้นมาก ๆ จึงจะทำอันตรายปลาได้ ไนเตรตนี้พืชน้ำจะชอบมาก โดยเฉพาะตะไคร่น้ำ  ถ้าตู้ปลาทองที่มีแสงความเข้มพอ หรือโดนแสงแดด จะเห็นได้ว่าตะไคร่น้ำจะเกิดได้ดีมาก เกิดได้เร็วกว่าตู้ใส่น้ำเปล่า ๆ แต่ไม่มีปลา  ปลาทองก็จะได้กินพวกตะไคร่น้ำนี้เป็นอาหาร  แล้วระบบของตู้ก็จะหมุนเวียนแบบนี้ ระบบในอุดมคติก็จะหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ

เมื่อไนเตรตมากขึ้นดูเหมือนว่าจะทำให้แบคทีเรียย่อยสลายแอมโมเนีย กับ ไนไตรต์ได้ แย่ลง ในกรณีที่ตู้ไม่โดนแสงแดด ไนเตรตจะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการเปลี่ยนถ่ายน้ำบ้างจึงเข้ามามีบทบาทในตรงนี้  เพื่อเจือจางระดับไนเตรตออกไปนั่นเอง แบคทีเรียจะได้ทำงานดีขึ้น

แต่ที่ระบบไม่สมดุล ก็จะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปลาโตขึ้น, คนใส่อาหารลงไป หรือมีแมลงตกลงไปตาย ปริมาณแสงแดดที่เปลี่ยนไป, ปริมาณน้ำที่เปลี่ยนไปอาจจะเพิ่มขึ้น / ลดลง, อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบกับระบบทั้งหมดทำให้ สภาพของระบบอาจจะมีขาด ๆ เกิน ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่คงที่นั่นเอง แต่โดยหลักการแล้วก็จะเป็นอย่างที่เขียนมาข้างต้น หัวใจหลักจึงอยู่ที่การรักษาสมดุลของสารพิษที่เกิดขึ้นให้ได้นั่นเอง




การตรวจหาสารละลายที่เป็นอันตรายต่อปลาไนไตรต์ แอมโมเนีย และไนเตรต
หลังจากที่เลี้ยงไป ตายไป บางตัวตายแบบงง ๆ ก็ชักจะเริ่มสงสัย ประกอบกับเท่าที่เลี้ยงมาส่วนใหญ่มักจะตายตอนที่อากาศเย็น ๆ เราเย็นสบาย แต่ไหงปลาตายซะงั้นก็เลยเริ่มสงสัย เริ่มที่จะต้องหาคำตอบ เพราะไอ้ตัวที่ตาย ๆ ไปนี่ขอบอกว่าแพง และชอบมาก เสียดายมาก ร้องไห้หนักมาก

ประกายความคิดเกิดจากวีดีโอนี้


ทำให้รู้สึกว่าถ้าเรามีเครื่องมือตัวนี้เราจะได้รู้ความลับที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับน้ำ ก็เลยต้องมองหาพวกที่จะเอามาตรวจคุณภาพน้ำ ก็เลือกตามเขาแหล่ะครับ เพราะจากค้นคว้าอยู่สองสามวันพบว่ามีแต่คนบ่นว่าพวกแบบกระดาษทดสอบมันไม่ดี สู้แบบที่เป็นสารละลายหยดทดสอบไม่ได้

Master Test Kit (FreshWater)
ก็ไปหาซื้อมาครับ ราคาก็รวมค่าส่งค่าอะไรแล้วก็ประมาณ 1,650 บาท  ..... ถ้าจะถามว่าแพงไหม คำตอบก็คือก็ดูแพงอยู่นะครับ   ถามว่าจำเป็นไหม ผมบอกเลยว่าที่เขียนบทความนี้ไม่ได้มาเชียร์ให้ซื้อตามนะครับ ผมเองก็ไม่ได้ขายด้วย (ถ้าขายอาจจะเชียร์ ฮ่า ๆ )  แต่เป็นหลักฐานที่เอามาใช้เพื่อเขียนบทความนี้ว่าผมไม่ได้มั่วมานะ ในน้ำมันมีแอมโมเนียจริง ๆ

ในส่วนนี้ผมก็จะขอมารีวิวแค่นั้น แต่บอกเลยว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อก็ได้ แต่ถ้าอยากเอามันส์เอาสนุก ทุนทรัพย์มี .. อย่ารอช้าก็จัดเลย

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดในจังหวะที่จะตัดสินใจว่าจะซื้อไหม หลังจากติดต่อพี่เจ้าของร้าน สีสัน อควอเรียม 2 (ขอโปรพี่เขานิดหนึ่งคือพี่เขามีความตั้งใจที่จะขายมาก ผมประทับใจ) รู้ราคา รู้ค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จที่จะต้องจ่ายแล้ว ผมตัดสินใจซื้อเพราะว่า ผมคิดว่าเราเลี้ยงปลาแบบไสยศาสตร์เกินไป มันไม่มีหลักการหลักฐานอะไรเลยตอนที่ปลาเราป่วย แล้วการพยายามรักษามันก็ไม่เคยสำเร็จ ไม่เคยหาย ทำได้ประมาณแค่ว่าประคองอาการไว้ได้นานแค่ไหน

พอปลาเราป่วยเราเองก็ไม่ได้เรียนด้านนี้มาด้วย ครั้นจะผ่าปลาดูก็อวัยวะภายในใจหนึ่งก็ไม่กล้า ใจไม่แข็งพอ แล้วก็เปิดออกมาแล้วเราก็ไม่รู้อีกแหล่ะว่าปัญหาของปลาที่ป่วยตายนั้นเป็นเพราะอวัยวะส่วนไหน ส่วนไหนมีปัญหาแล้วปัญหาเกิดจากอะไร ดังนั้นก็ไม่มีประโยชน์ คือในขั้นตอนของการรักษานี่ต้องบอกว่าเราแทบไม่รู้อะไรเลยไม่ใช่เหรอ ?  อาจจะเขียนเป็นสมการว่า ปลาทองที่ป่วย = ปลาทองที่ตายไปแล้ว ก็ไม่ผิดนัก

สิ่งที่ทำได้คือขั้นตอนการเลี้ยงสิ จะเลี้ยงอย่างไรไม่ให้ปลาป่วย  น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้มากที่สุด เพราะปลาทองเองเป็นปลาที่เรียกว่าถูกพระเจ้าทอดทิ้ง เราไม่เคยเห็นปลาทองในแหล่งน้ำธรรมชาติ (ผมเคยเห็นครั้งหนึ่ง ในความฝัน ฝันว่ามีบ่อน้ำ่ใสมีปลาทองเยอะแยะมากมายเลย)  มันไม่ได้ถูกธรรมชาติสร้างมา มันเป็นปลาที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ฝรั่งบางคนยังบอกว่าเป็นปลาที่รวมยีนส์ด้อยทุกอย่างเอาไว้ แต่มันสวยดีพวกเราก็เลยเลี้ยงกัน ดังนั้นการเกิดโรคถ้าไม่เกิดมาจากร้าน ก็ต้องเกิดมาจากเรา เพราะเราเป็นคนเลี้ยงนี่นะ เราควบคุมได้สภาพแวดล้อมที่ใช้ในการเลี้ยงปลาทองแทบทุกอย่าง แล้วโรคมันมาจากไหน มันต้องมีที่ไปสิ ถูกไหม ?

ประกอบกับปลากำลังป่วยพอดี ก็เลยตัดสินใจสั่งช่วงบ่าย ๆ พี่เขาก็รีบจัดส่ง EMS ให้ทันที ของมาถึงวันรุ่งขึ้นกันเลยทีเดียวก็เลยได้เทสต์น้ำที่ปลาป่วยอาศัย  เทสต์น้ำช่วงปลาป่วย เทสต์น้ำที่เลี้ยงลูกปลาแล้วก็กำลังมีปัญหาเรื่องจุดขาว ช่วงที่ได้มาก็คือช่วงที่อากาศหนาวเย็น กรุงเทพอุณหภูมิ 18 - 19 องศา ประมาณนั้นเลย

เรามารีวิวกันเลยดีกว่านะ ในชุดเทสต์ก็จะประกอบไปด้วยการทดสอบหาค่า

  • pH คือความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ ปลาทองชอบอยู่น้ำเป็นด่างนิด ๆ นิดเดียว และความเป็นด่างนี้เองที่ทำให้ของเสียของปลากลายเป็นแอมโมเนีย ถ้าของเสียของปลาเกิดในสภาวะที่น้ำเป็นกรดเราจะไม่ได้แอมโมเนียที่ทำร้ายปลา
  • ไนไตรต์ ซึ่งอันนี้ต้องมีอยู่แล้วถ้าไม่มีนี่อาจจะไม่ซื้อเพราะอันนี้ก็เป็นอันตรายกับปลา ชุดทดสอบบางตัวไม่มีนะเท่าที่ดู ๆ มา
  • แอมโมเนีย อันนี้ต้องมีแน่ ๆ เพราะแอมโมเนียอันตรายที่สุดละกับปลาทอง
  • ไนเตรต  ตัวนี้ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่สำหรับตู้ผม เพราะตู้ผมโดนแสงแดด ผมดูพวกตะไคร่น้ำแทนได้ช่วงไหนที่ตะไคร่น้ำโตไว ๆ นั่นก็แสดงว่าน่าจะมีไนเตรตสูง  ส่วนฝรั่งเขาบอกว่าถ้าไนเตรตสูงในระดับที่ไม่ควรจะเลี้ยงต่อไป เขาจะเปลี่ยนน้ำ เรียกได้ว่าเอาไว้เป็นตัวตัดสินใจในการเปลี่ยนน้ำในกรณีที่ตู้ไม่โดนแสงแดด

แกะแพ็คออกมาก็จะมีหลอดทดลองให้ 4 หลอด สารละลายใช้ในการทดสอบ 7 ขวด เหมือนใน VDO ที่ดูใน youtube เป๊ะ

เทสต์ pH คือจะมีสองขวด แต่ไม่ได้ใช่ร่วมกันสำหรับเทสต์ pH ช่วงกรดไปถึงเบสอ่อนขวดหนึ่ง
อีกขวดหนึ่งเทสต์ช่วงเบส, Ammonia กับ Nitrate มีสองขวดต้องใช้ร่วมกัน ส่วนไนไตรต์ง่ายหน่อยมีขวดเดียว

จากที่มุมของแพ็คเกจกล่องจะเห็นได้ว่าใช้ทดสอบได้มากกว่า 800 ครั้ง !!!!  ผมคิดว่าจะไปทดสอบอะไรหนักหนา แค่ 30 ครั้งก็พาลจะขี้เกียจเทสต์แล้ว

บางขวดจะมีคำเตือนให้ระมัดระวังด้วย ขวดไนเตรต#1 นี่เหม็นจริง ๆ ตอนเปิดมาจะหยดทดสอบ


ก็ยุติธรรมดีนะครับ หมดอายุประมาณปี 2019 หรือก็อีกประมาณ 3 ปีครึ่งเลยทีเดียว
ฝาที่ปิดมี lock เป็น safety ด้วยครับคือหมุนอย่างเดียวไม่ออกต้องกดจุดแดง ๆ ไว้ด้วย ตอนได้มาตอนแรก ๆ งง อยู่พักกว่าจะเปิดเป็น

เรามาดูตัวอย่างการทดสอบน้ำกันบ้างครับ ตัวอย่างแรกเอามาจากน้ำที่มีปลากำลังป่วยเลย คือซึม ท้องติดก้นภาชนะ หางมีรอยตกเลือด + เปื่อย

จะเห็นได้ว่าแอมโมเนียพุ่งปรี๊ดไปเป็นสีเขียวเลย อันนี้แหล่ะครับที่ปลาป่วย

ต่อมาก็มาลองดูสิว่าน้ำที่ผมใช้เลี้ยงปลา เปิดจากก็อกมาใส่ตู้ปลานั้นจะมีค่าต่าง ๆ เป็นอย่างไรกันนะ ?
จะเห็นได้ว่าขวดแอมโมเนียเป็นสีเหลือง ซึ่งหมายความว่าแอมโมเนียต่ำนั่นเอง แล้วก็มี pH เป็นเบส
ผมเชื่อว่าน้ำประปาควรจะเป็นเบสนะ เบสมากเบสน้อยก็ว่ากันไป ไม่น่าจะเป็นกรด เพราะอาจจะทำให้ไปกัดกร่อนพวกท่อโลหะหรือเปล่า ?


ลองมาดูน้ำกลั่นกันบ้าง ที่ใช้เติมแบ็ตเตอรี่รถยนต์ สี pH กลางเป็นแบบนี้นี่เอง  นี่คือผลของน้ำบริสุทธิ์

สรุปแล้วผมว่าตั้งวันที่ได้มาจนถึงวันนี้เดือนมีนาคม ก็เทสต์ไปไม่ถึง 30 ครั้ง จริง ๆ ด้วยครับ เพราะว่าก็เบื่อเสียก่อน  พอเรารู้ความลับของน้ำที่ใช้เลี้ยงปลา รู้ถึงข้อผิดพลาดที่ทำมาแล้วก็จบแล้วครับ  ใครบ้านใกล้ ๆ ผมจะมายืมไปเล่นก็มาเอาได้เลยครับ ให้ยืมไปเล่น แล้วจะรู้ว่าเทสต์ไม่ถึง 30 ครั้งหรอกครับ เบื่อเสียก่อน ถ้านั่ง ๆ นึก ๆ นับ ดูผมว่าผมเทสต์ไม่ถึง 20 ครั้งนะ






สาเหตุการตายของปลาทองโดยมากเกิดจากพิษแอมโมเนีย
เข้ามาถึงหัวข้อที่คนที่เริ่มเลี้ยงปลาทองใหม่ ๆ ประสบการณ์น้อยมักจะเจอได้บ่อย คือเราซื้อปลามาเลี้ยง พร้อมอุปกรณ์ครบเซ็ตไม่ว่าจะเป็นตู้,  กรอง, ออกซิเจน ฯลฯ  พอเลี้ยงไปได้สักพักทำโน่นทำนี่ปลาทองป่วยลงซะอย่างนั้นแล้วก็ตายลงไป นักเลี้ยงปลาก็จะเก็บประสบการณ์ตรงนี้ไป แล้วก็เริ่มเลี้ยงตัวใหม่ พร้อมวิเคราะห์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

ผมจะขอนำเสนอประเด็นเฉพาะเรื่องของพิษแอมโมเนียหล่ะกัน เพราะผมคิดว่าถ้าเข้าใจเรื่องนี้ปลาทองมีโอกาสเลี้ยงได้เป็นปี ๆ ถ้าไม่ทำพลาดซะก่อนนะ ผมจะแบ่งเป็นประเด็น ๆ ไปนะครับ

เมื่อเริ่มเลี้ยงปลาใหม่ ๆ 
บางทีเราก็เริ่มต้นกันที่ผิดสเต็ปกันไปนิดหนึ่ง คือเวลาเราซื้อตู้ปลา อุปกรณ์ครบ เราก็จะเลี้ยงปลากันเลย จริง ๆ แล้วนี่คือจุดเริ่มต้นของความผิดพลาดแรก ๆ ในเมืองนอกเขาแนะนำว่าคุณจะต้องเริ่มจากการรันระบบน้ำเปล่า ๆ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์  โดยคุณจะต้องเริ่มเซ็ตตู้ขึ้นมาเปล่า ๆ มีน้ำ มีกรอง เปิดเครื่องปั๊มหรืออ็อกซิเจน แต่ยังไม่มีปลา  ใส่อาหารปลาลงไปนิดหน่อย (เมืองไทยอาจจะคิดว่าบ้า เลี้ยงปลาอะไรไม่มีปลาแต่ใส่อาหารปลา)  แต่จริง ๆ แล้วเขากำลังเริ่มวัฎจักรข้างบน โดยให้แบคทีเรียดีนั้นโตก่อน เพื่อที่จะทันมาบำบัดของเสียของปลาทองที่เราจะเลี้ยง พอเราใส่ปลาลงไป ปลาก็สบายเลยได้อยู่ในสภาวะที่พร้อมที่จะมีชีวิต และข้อดีของตู้ที่มีระบบที่ดีคือน้ำจะใสสวยเลยครับ เพราะตอนที่เปิดระบบช่วงแรก ๆ แบคทีเรียเริ่มจะโต ช่วงแบคทีเรียเริ่มจะโตน้ำจะขุ่น ๆ พอพ้นช่วงนี้ไปน้ำก็จะใสแจ๋วหรือที่เรียกว่ากรองเซ็ทตัวดีแล้ว  พอใส่ปลาลงไปองค์ประกอบก็ครบพอดี

สิ่งที่ผิดพลาดในเรื่องนี้คือเรามักจะซื้อปลามาใส่เลย แถมบางทีก็มีจำนวนเยอะด้วย นั่นจะทำให้ปัญหาเกิดขึ้น ลองมองแผนภาพด้านบนดู ถ้าของเสียเยอะ แบคทีเรียน้อย มันก็ทำงานกันไม่ทัน ทำให้ระดับแอมโมเนียพุ่งสูง แถมด้วยใจที่แบบอยากเลี้ยงอ่ะ อยากเห็นปลากินอาหารก็เลยใส่อาหารเยอะ ดูปลากินอาหารก็เพลินดี ซึ่งปลาจะร่าเริงก็วันแรก ๆ พอวันหลัง ๆ ของเสียเริ่มย่อยสลายกลายเป็นแอมโมเนียปลาก็จะเริ่มป่วยซึม แล้วก็มีปัญหาในที่สุด

ถ้าซื้อตู้ใหม่ แล้วอยากเลี้ยงเลย ก็อยากให้เริ่มจากตัวเล็ก ๆ จำนวน 1 - 2 ตัวก่อน  แล้วก็อย่าเห่อมากให้อาหารเยอะ วันแรก ๆ นี่ให้น้อยหน่อย แบบนี้ก็จะเป็นการพัฒนาระบบขึ้นมา ซึ่งก็จะเป็นผลดี แต่ผมก็เคยฟังฝรั่งคนหนึ่งเขาบอกว่าทำแบบนี้มันไม่ยุติธรรมกับปลาเลยนะ - -") .ในขั้นตอนเริ่มต้นนี้อาจจะต้องใช้เวลานิดหนึ่งกว่าระบบจะเข้าที่เข้าทาง บางคนก็เห่อมากอยากจะทำนั่นทำนี่เร็ว ๆ แต่บอกเลยว่าต้องอดทนรอ เพราะพวกแบคทีเรียกว่าจะเจริญเติบโตทำให้กรองทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเองก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์  บางคนที่เริ่มเลี้ยงปลาใหม่ ๆ แล้วเลี้ยง ๆ ไป เจอน้ำขุ่นเข้าหน่อยก็เปลี่ยนน้ำใหม่หมด เปลี่ยน 100% เพื่อให้น้ำใส ทั้ง ๆ ที่การที่น้ำขุ่น (ขุ่นแบบขาว ๆ หมอก ๆ) นั่นคือแบคทีเรียกำลังจะโต ก็ไปถ่ายน้ำทิ้งเสีย ก็เลยเป็นการเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ก็เลยทำให้ระบบกรองไม่เซ็ทตัวสักที แล้วก็เข้าใจไปว่าน้ำขุ่นปกติเพราะขี้ปลาทอง ฯลฯ  นั่นคือจุดเริ่มต้น  ซึ่งอาการป่วยด้วยพิษแอมโมเนียนี้บางทีไม่รุนแรงขนาดทำให้ปลาแสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน แต่มันสามารถที่จะสะสมได้ พอถึงจุดหนึ่งปลาจะมีอาการอวัยวะภายในมีปัญหาเช่น เกร็ดพอง ทรงตัวไม่ได้ ว่ายน้ำไม่ได้ หงายท้อง นั่นคือสายแล้ว ป่วยมากแล้วรักษาไม่ได้ หรือรักษาได้ยาก ส่วนมากมักจะไม่รอด  แล้วถ้าไปดูตู้ทะเลนี่ต้องเปิดระบบรันน้ำทิ้งไว้กันเป็นเดือนนะครับ เพื่อให้ระบบเซ็ตตัว กว่าจะเอาปลามาลง  ดังนั้นการเริ่มต้นที่ดีนั้นก็มีความสำคัญ

วิธีการเร่งให้ระบบเซ็ตตัวเร็ว ก็ยังมีอยู่ คืออาจจะไปขอยืมหินกรองจากตู้เพื่อนมาใส่ มาแช่น้ำในตู้ปลาของเราไว้ เปิดระบบกรองน้ำเพื่อให้แบคทีเรียกระจายตัวเข้ากรองของเราได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งไม่ลืมใส่เศษอาหารลงไปนิดหน่อย เพื่อสร้างแอมโมเนียให้เป็นอาหารของแบคทีเรีย ถ้าเสียดายอาหารก็ขอขี้ปลาเพื่อนมาด้วยเลยก็ได้ เพราะกว่าอาหารดีจะกลายเป็นแอมโมเนียก็ยังต้องใช้เวลานิดหนึ่ง

แบคทีเรียดีที่ว่านี้ก็โต้ช้าเหลือเกินใช้เวลาขั้นต่ำก็ 1 สัปดาห์โน่นแหล่ะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยพวกอุณหภูมิด้วย อากาศเย็นก็โตช้าอีก (วุ่นวายเนอะ) ช่วงเริ่มต้นใหม่ ๆ น้ำอาจจะขุ่นบ้างอย่าใจร้อนเปลี่ยนน้ำ เพราะช่วงนี้แบคทีเรียกำลังเริ่มเจริญเติบโต ถ้าเปลี่ยนน้ำช่วงนี้ก็จะเหมือนเดินถอยหลังไปอีก

จำนวนปลานี่ผมก็ไม่มีสูตรนะครับว่าตู้ขนาดไหนควรจะเลี้ยงเท่าไหร่ เอาเป็นว่าถ้าจัดการระบบได้ดี ปลาก็จะรอด สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองนะครับมันไม่มีสูตรตายตัว  แล้วก็ขนาดของปลาก็ควรจะเหมาะกับขนาดของตู้ ตู้เล็ก ๆ ก็เลี้ยงปลาตัวเล็ก ๆ จะดีกว่าครับ เท่าที่ผมรู้สึกนะ ผมรู้สึกว่าปลาทองตัวเล็กจะทนต่อแอมโมเนียได้ดีกว่าปลาทองตัวใหญ่ และยังปล่อยของเสีย(สร้างแอมโมเนีย)ได้น้อยกว่าด้วย  และก็ไม่ควรเลี้ยงแน่นจนเกินไป เพราะถ้าแน่นมากก็คุมระดับของแอมโมเนียยาก เพราะต่างก็รุมกันปล่อยของเสีย ทิ้งไว้ไม่นานระดับแอมโมเนียก็จะขยับตัวสูงขึ้นได้ไว

บางทีถ้าอยากจะเห็นภาพมากขึ้นก็คือการเลี้ยงปลาก็เหมือนกับการย่อเอาระบบนิเวศน์ของปลา ย่ออัตราส่วนลงให้เหลือแค่ตู้ หรือภาชนะที่เลี้ยง เช่นถ้าเราย่อมหาสมุทรบนโลกให้เล็กเท่าตู้ ปลาวาฬอาจจะมีขนาดเท่าไรน้ำ(หรือเล็กกว่า)  ถ้าเราอยากเลี้ยงปลาทองไซร้ส์ 3 นิ้ว จำนวนสัก 2 ตัว ลองดูความเหมาะสมว่าตู้ควรจะมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ ปลาทองก็มีหลายไซ้รส์ตามท้องตลาดให้เลือกสรรกัน ไม่ว่าจะเป็นไซร้ส์เล็ก พวกลูกปลาที่ยังโตไม่มาก หรือจะเป็นขนาดใหญ่ยักษ์อย่างฮอลันดายักษ์ที่ตัวใหญ่เท่าฝ่ามือ การเลือกขนาดและจำนวนปลาให้เหมาะสมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ระบบนิเวศน์เล็ก ๆ ของเราอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมกับปลาทอง ทำให้ปลาสามารถที่จะมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยกันได้นาน ๆ การดูแลก็จะลดความยากลง

มันก็เป็นไปตามสูตรหล่ะครับถ้าน้ำน้อย ๆ ระดับแอมโมเนียเพิ่มไปนิดเดียวความเข้มข้นของแอมโมเนียมันก็สูงขึ้นได้รวดเร็ว ถ้าน้ำเยอะก็ต้องใช้แอมโมเนียมาก ๆ ระดับแอมโมเนียจึงจะสูงขึ้นไปจนถึงระดับอันตรายต่อปลาทอง  เปรียบเหมือนเวลาเรากินกาแฟ ถ้วยกาแฟมักจะเล็ก ๆ น่ารัก เพราะว่าถ้าถ้วยใหญ่คุณก็จะต้องใส่กาแฟ ใส่น้ำตาล ใส่ครีมเยอะ  เพราะฉะนั้นอัตราส่วนของจำนวนปลาทองกับน้ำในตู้นั้นก็สำคัญ อยากเลี้ยงให้รอดง่าย ๆ ก็อย่าเลี้ยงแน่นประมาณนั้น  ผมเคยเห็นในพันทิปคนเลี้ยงแน่นแต่เลี้ยงได้นานก็คือคนที่ต้องดูแลเรื่องการดูดขี้ปลา ดูดกันทุกวันเลย ถ้ามีเวลาขนาดนั้นได้ก็ทำได้ครับ แต่มันก็อยู่บนความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงอยู่นะ จึงเป็นบทสรุปว่าเลี้ยงปลาทองอย่าแน่น เลี้ยงให้หลวม ๆ ยิ่งหลวม ปลาทองก็ยิ่งจะอยู่กับเราได้นาน


การให้อาหารปลาทอง
ปริมาณนั้นเป็นหัวใจหลักของการให้อาหารปลาทอง  ให้มากก็จะทำให้ขี้มาก ขี้มากก็จะเกิดแอมโมเนียมาก คนเลี้ยงปลาที่เพิ่งจะเริ่มเลี้ยงอาจจะอยากให้ปลาทองโตเร็ว ๆ แต่ผมจะบอกความลับให้คือ ปลาทองที่ซื้อ ๆ มานี้ ตามร้านทั่ว ๆ ไปนี้ จะโตขึ้นได้อีกไม่มาก เพราะหลายปัจจัยคือ

  • บางทีเราก็ได้ปลาเกรดคัดทิ้ง คือเลี้ยงมาแล้วครอกหนึ่งมีเป็นพัน ๆ ตัว พวกนี้คือพวกที่โตช้า มาจากฟาร์มอยู่แล้ว คือต้องเข้าใจธรรมชาติ ปลาทองออกลูกเยอะ ก็จะมีพวกสมบูรณ์แข็งแรง โตไว กับอีกพวกที่ไม่สมบูรณ์โตช้า ฟาร์มเองก็ต้องดำเนินกิจการของเขา เขาก็จะเอาปลามาแบ่งเกรด ราคาถูกไปถึงแพง ขายกันหลายราคา ปลาถูกก็จะลงไปอีกตลาดหนึ่ง ปลาแพงก็จะไปอีกตลาดหนึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
  • ปลาทองจะมีช่วงอายุที่โตของมัน ถ้าพ้นช่วงนี้แล้วก็จะไม่โตขึ้นอีก คือกราฟการโตของปลาทองจะโตเร็วในช่วงเริ่มเกิดจนถึงประมาณ 6 เดือนแรก ถ้าช่วงนี้ได้รับอาหารดี อยู่ในที่กว้าง ๆ สภาวะเหมาะสมก็จะโตอย่างรวดเร็ว ถ้าพ้นไปแล้วก็โตเท่าไหนเท่านั้น
  • ภาชนะที่เราใช้เลี้ยงก็ไม่ใหญ่โต เราเลี้ยงเพื่อดูเล่น มันคงจะไม่สามารถใหญ่คับตู้ไปได้ มันไม่ใช่ต้นไม้บางชนิดที่พยายามจะโตแม้ว่ากระถางที่เลี้ยงจะเล็ก

ดังนั้นเวลาใส่อาหารไปมาก ย้อนไปดูภาพด้านบนจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ปลาจะกินหมด ของเสียก็จะออกมาเยอะ กินเหลืออาหารก็จะกลายสภาพอยู่ดี ถ้าตรงนี้ระบบกรองรับไม่ทันก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นนั่นเอง

มีคนบอกไว้ว่าไม่เคยเห็นปลาทองอดอาหารตาย มีแต่ให้มากไปจนตาย  นั่นก็ดูเหมือนว่าจะจริง ผมเองก็คงไม่ใจดำเลี้ยงปลาทองโดยไม่ให้อาหารมันเลย มีแต่การถ่ายน้ำ ก็เลยไม่รู้ว่าปลาทองที่อดอาหารจนถึงขีดสุดนั้นเป็นอย่างไร ถ้าจะให้เดาผมคิดว่า บทบาทของอาหารคือการไปทำให้ปลาเจริญเติบโต, ซ่อมแซมส่วนที่ซึกหรอของเซลล์, รวมไปถึงการให้พลังงาน  ผมคิดว่าถ้าไม่มีพลังงานปลาทองก็น่าจะอยู่ในภาวะจำศีลหล่ะมั้ง คืออาจจะว่ายน้อยลงใช้พลังงานให้น้อย แล้วก็อยู่นิ่ง ๆ หายใจเบา ๆ เมื่อพลังงานเหลือ 0 จริง ๆ ก็คงตาย  ก็คงเหมือนคน คนอดน้ำได้น้อยกว่าอดอาหาร แต่ปลาทองใช้น้ำเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอยู่แล้วจึงไม่มีอดน้ำ ขาดอากาศคนก็ตายไวเลยปลาทองก็เช่นกันแสดงว่าอากาศนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำรงชีพ ส่วนอาหารเป็นปัจจัยสำคัญอันสุดท้าย

แต่เนื่องจากปลาทองเราเลี้ยงในระบบปิด ของเสียที่เกิดจากการกินเข้าไปสุดท้ายเมื่อไม่ถูกกำจัดออกจากระบบอย่างถูกวิธีก็จะย้อนกลับมาในรูปแบบของแอมโมเนีย และไนไตรต์ ทำให้ปลาป่วยและตายลงไป  คิดว่าคงไม่ต่างอะไรกับคนที่ถูกขังอยู่ในห้องที่มีอยู่ทุกอย่างให้ครบแต่ไม่มีส้วมให้เอาของเสียออกจากห้องนั่นเอง  อาจจะพอทึกทักได้ว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่อาจอยู่ร่วมกับของเสียของตัวเอง(หรือของคนอื่น) ได้เป็นระยะเวลาหนึ่งสินะ

ถ้าเป็นอาหารสด เคยมีคนบอกว่าจะได้ของเสียที่เป็นพิษน้อยกว่าอาหารเม็ด  และการให้อาหารเม็ดจมก็จะช่วยลดอากาศที่อาจจะเข้าไปในระบบทางเดินอาหารของปลาได้ (สองอันหลังนี้ผมไม่ฟันธงนะครับ แต่ก็ได้ยินมาแบบนั้น โดยเฉพาะเรื่องของการให้อาหารลอยนี้เหมือนฝรั่งจะบอกว่าไม่ควรให้อาหารเม็ดลอยกับปลาทอง เพราะปลาทองจะกลืนเอาอากาศเข้าไปในระบบทางเดินอาหารได้ อ่านเจอค่อนข้างบ่อยนะครับ) สำหรับผมผมก็เลือกที่จะให้อาหารสดบ้างเป็นบางครั้ง เมื่อก่อนก็เป็นอาร์ทีเมีย (ไรทะเล) แต่ว่าร้านที่ผมซื้อเขาประจำไม่ได้เอามาขายแล้ว อาจจะเพราะขายไม่ดีมั้งครับ แล้วคนเราก็อ่อนไหวในเรื่องของการใช้อาหารที่มีชีวิตด้วย  ตอนนี้ก็มีแต่หนอนแดงแช่แข็งครับ แล้วก็อาหารที่ผมใช้ก็เม็ดจมของ Hikari อยู่แล้ว เพื่อไม่ให้มันไหลลงกรอง

อนึ่งอาหารที่มีชีวิตนั้นก็จะมีความเสี่ยงในเรื่องของการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้า่มาเกี่ยวข้องด้วยเช่นแบคทีเรีย ปรสิต อย่างแบคทีเรียเองเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอยู่แล้ว แล้วก็ปรสิตบางชนิดเช่นพวกปลิงใสนี่ก็จะมองไม่เห็นเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะมันใส แต่มันขนาดเล็กมากจริง ๆ ต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์กันเลยเชียว แต่มันก็ไม่ได้เป็นแบคทีเรีย

บางคนอาจจะเคยเห็นหรือได้ยินได้อ่านผ่านตากันมาว่าปลาทองที่เจ้าของเลี้ยงแบบอด ๆ อยาก ๆ นั้นมักจะอยู่ได้นานกว่าปลาทองที่เลี้ยงแบบให้อาหารครบมื้อ ซึ่งก็ได้อธิบายไปแล้ว เพราะอาหารทำให้เกิดของเสีย ของเสียก็ทำให้เกิดแอมโมเนียนั่นเอง นั่นหมายความว่าจริง ๆ แล้วเราคนที่เลี้ยงปลาทอง คือก็มีความตั้งใจจะเลี้ยงแหล่ะ คงมีส่วนน้อยที่เลี้ยงแบบไม่ได้ตั้งใจจะเลี้ยง คนที่ตั้งใจจะเลี้ยงก็จะมีจิตใจที่ดูแล ห่วงหาอาทรมากกว่าก็เลยเหมือนเราหิวข้าวเราก็ควรจะได้กินข้าวซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องที่ดี  ผมจึงแค่มาเตือนว่าอย่าลืมจัดการของเสียด้วย เพื่อให้ระบบจัดการกับแอมโมเนียได้เหมาะสม ไม่สะสมของเสียมากจนเกินไป  จนทำให้เกิดแอมโมเนียมากจนเป็นอันตรายกับปลา

ประเด็นหลักของเรื่องนี้คือการให้อาหารมากเกินไป จะเพราะอะไรก็แล้วแต่ เพราะใจอ่อน เพราะอยากให้โตไว ๆ เพราะอยากให้มีลูกไว ๆ ฯลฯ  เหล่านี้ก็ต้องบอกว่าถ้าอาหารเยอะ ก็ขี้เยอะ แล้วก็ทำให้ระดับแอมโมเนีย กับ ไนไตรต์ สูงขึ้นได้เร็วนั่นเอง  ถ้ากรองรับมือไหวก็โอเค ถ้ากรองรับมือไม่ไหวปัญหาก็จะเริ่มเกิดขึ้นมา


การถ่ายน้ำ การล้างกรอง
เมื่อเลี้ยงปลาทองไปสักระยะหนึ่ง เราก็จะเห็นว่าตู้สกปรก อาจจะด้วยสีของน้ำที่ออกเหลือง ๆ นิด ๆ เขียว ๆ นิด ๆ หรือจะเป็นเพราะตะไคร่น้ำ หรือจะเป็นเพราะเศษขี้ปลาสีน้ำตาล ๆ เป็นผง ๆ เล็ก ๆ อะไรก็แล้วแต่ก็จะมาแวะเวียนกันในเรื่องของการเปลี่ยนน้ำ ซึ่งบ่อยครั้งตรงนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปลามีอันเป็นไปได้บ่อย ๆ

สูตรของการเปลี่ยนถ่ายน้ำนี้มีหลายสูตรมาก ๆ แล้วแต่จะหยิบไปใช้ ซึ่งหาอ่านได้ทั่ว ๆ ไป ใครสะดวกกันทุกวันก็วันละ 10%  หรือจะ 3 - 4 วันครั้งหนึ่ง ครั้งละ 30% หรือจะเปลี่ยน 50% อะไรก็ว่าไป แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญคือ การจะถ่ายน้ำอย่างไรให้แบคทีเรียไม่อันตรธานหายไป หรือแบคทีเรียตายยกเข่ง การถ่ายน้ำจะต้องรบกวนปลาให้น้อยที่สุด  และไม่แนะนำให้ถ่ายน้ำ 100% หรือน้ำใหม่ทั้งหมด

ผมแนะนำว่าจะใช้สูตรไหนก็แล้วแต่ อย่างแรกเลยคือไม่ควรที่จะเปลี่ยนน้ำใหม่ 100% เพราะน้ำใหม่ 100% ค่าต่าง ๆ ของน้ำจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นความเข้มข้นของไอออน หรือสารละลายต่าง ๆ ในน้ำ รวมไปถึงอุณหภูมิ ปลาจะปรับตัวไม่ทันจนเกิดอาการที่เขาเรียกกันว่าน็อคน้ำ  ในความคิดผมผมคิดว่า 50% นี่น่าจะสูงสุดแล้วหล่ะที่จะเปลี่ยนน้ำใหม่  แต่ถ้าเอาแบบปลอดภัย ๆ เลยก็ไม่ควรจะเกิน 30% เหลือน้ำเก่าไว้สัก 70%  สิ่งที่อยากจะเพิ่มเติมคือ เมื่อจะทำการเปลี่ยนน้ำแล้วหล่ะก็ สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือพยายามวางแผนในการดูดขี้ปลาหรือของเสียที่มองเห็นออกมาพร้อมกับน้ำให้ได้มากที่สุด

ถ้าคิดว่า 30% ยังดูดขี้ปลาไม่พอ ก็ต้องเก็บไว้วันอื่น อย่าดูดน้ำเพลินจนน้ำพร่องลงไปเยอะเกินกว่าโควต้าที่ตั้งเป้าไว้ ถ้ายังอยากจะดูดขี้ปลาอีกก็ให้เว้นช่วงไว้ทำพรุ่งนี้หรืออีกสองวันให้หลัง

บางคนพออ่านเจอสูตรในอินเตอร์เน็ตอาจจะแค่ทำการถ่ายน้ำอย่างเดียว สิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างแรกเลยคือปลาจะร่าเริงมากขึ้น ตามประสาปลาทองได้น้ำใหม่ แต่พอนานวัน นานวันเข้าของเสียที่สะสมไว้ หมักหมมไว้ก็จะไปเพิ่มแอมโมเนียและไนไตรต์ให้สูงได้เร็วขึ้น ผมจึงคิดว่าแค่เปลี่ยนน้ำอย่างเดียวจึงยังไม่พอ  และด้วยหลักการที่ผมนำเสนอมาตั้งแต่แรกคือจะต้องควบคุมระดับแอมโมเนีย และไนไตรต์ ให้ได้มากที่สุด จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแอมโมเนีย ไนไตรต์ หรือไนเตรต ต่างก็ละลายปนอยู่ในน้ำทั้งนั้น การกำจัดก็คือกำจัดที่ต้นเหตุที่จะทำให้เกิดนั่นก็คือของเสียที่ปลาขับถ่าย เศษอาหาร ถ้าของเหล่านี้ลดปริมาณลง หรือหายไปจากระบบ ระดับแอมโมเนีย และไนไตรต์ ก็จะไม่มีทางเพิ่มขึ้น และนั่นก็หมายความว่าชีวิตปลาทองก็จะเซฟมากขึ้น


การล้างกรอง
ถ้าจะพูดถึงการล้างกรองก็จะเป็นเรื่องยาว เพราะแต่ละคนก็มีการจัดวัสดุในช่องกรองไม่เหมือนกัน เท่าที่ผมอ่านเจอมาผมจะเห็นว่าบางคนใส่แต่หินพัมมิสอย่างเดียวจนเต็มกรองก็มี สำหรับตัวผมผมใส่วัสดุกรองค่อนข้างที่จะหลากหลายซึ่งบอกตามตรงว่าล้างยากมาก ผมคงไม่ฟันธงว่าอย่างไหนดีแบบไหนดี เอาแบบที่ผมมีอยู่หล่ะกัน กรองของผมจะเรียงแบบนี้ จากบนลงล่าง
  1.  ใยกรอง สีขาว ๆ นั่นแหล่ะหาซื้อได้ตามร้านทั่ว ๆ ไปเลย (แต่ที่ผมคิดว่าใยกรองที่ดีคือใยที่ละเอียด ๆ หน่อย แต่ยังหาซื้อไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้ว่ามีแบบไหนบ้าง ร้านแถว ๆ บ้านมีขายอยู่ยี่ห้อเดียว)
  2. ไบโอบอล อันนี้ของผมจะปน ๆ กันระหว่างแบบดั้งเดิมที่เป็นหนาม ๆ กับที่เป็นแบบกลม ๆ ที่เขาว่าพื้นที่หน้าสัมผัสเยอะ ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมมีหลายแบบ ทำไมต้องปน เพราะผมมีนโยบายว่าถ้าจะล้างกรองทีหนึ่งก็จะสั่งซื้อของแบบใหม่ ๆ มาใช้ ในเมื่อไบโอบอลทำหน้าที่เติมอ็อกซิเจนให้น้ำ (ซึ่งแบคทีเรียดีที่ย่อยสลายแอมโมเนียกับไนไตรต์นี่ต้องใช้อ็อกซิเจน) ก็อยากเลือกแบบหน้าสัมผัสเยอะ ๆ แล้วล่าสุดนี่ไปเจอแบบที่ใส่ฟองน้ำไว้ตรงกลางอีกก็เริ่มสนใจอีกแต่ยังไม่ได้ซื้อมา ชั้นของไบโอบอลนี้ก็มีความสูงประมาณ 35% ของกรองข้างตู้ของผม
  3. เป็นพวกเซรามิคริงครับชั้นนี้ อันนี้ก็แพงมีอยู่หน่อยหนึ่งซื้อมากล่องดียว ไม่ไหวไม่สู้ราคา คิดว่าคงไม่ซื้ออีกแล้ว
  4. ชั้นนี้เป็นหินพัมมิสก่อนใหญ่ ๆ ถึงก้อนกลาง ๆ 
  5. ซับเสตรทโปร อันนี้เพิ่งจะเคยใส่เข้าไปกล่องหนึ่ง ลองดู ซึ่งแพงมาก  แต่ด้วยความอยากลองคือผมอยากลองไม่จำเป็นต้องเอาตามนะครับ เพราะเห็นในบทความเขาว่ากันมาว่ารูพรุนสูงกว่าหินพัมมิส เนื่องจากราคาแพงผมเลยคิดว่ากะจะเจียดเงินซื้อประมาณปีละกล่อง
  6. หินพัมมิสก้อนเล็ก ๆ อีกชั้นหนึ่ง

ทำไมผมถึงมีใยกรอง .... ก็อย่างที่บอก กรองผมล้างยากมากใยกรองนี่ช่วยผมมากเพราะผมจะสังเกตเห็นว่าพวกขี้ปลา พวกเศษตะไคร่น้ำที่ขัดทิ้งจะลงมาติดชั้นนี้ซะเยอะ คือแบคทีเรียไม่ได้ย่อยพวกกากน้ำตาล ๆ ที่เป็นขี้ปลา แต่มันย่อยสารแอมโมเนียซึ่งเป็นสารละลายกับน้ำ ผมจึงคิดว่าก็ควรจะกรองเศษขี้ปลาออกได้มากที่สุดก่อนที่จะผ่านมันไปสู่ชั้นถัดไป ไม่งั้นขี้ปลาก็ไปอยู่ในชั้นหินแล้วก็ล้างยากตายเลย
เนื่องจากผมเป็นกรองข้างติดตู้มาเลย กรอง built-in ก็จะเห็นว่าความสกปรกของมันอยู่ในระดับไหนได้ไม่ยาก  และการซักใยกรองนี่ง่ายมากเอาน้ำฉีด ๆ ตบ ๆ ก็สามารถที่จะเอาพวกสิ่งสกปรกออกไปได้ เทียบกับการล้างชั้นหินแล้วเห็นความแตกต่างเลย  ใครไม่ใช้ ??? ผมใช้....

นอกประเด็นนิดหนึ่ง ผมเอาขี้ปลาที่ได้จากใยกรองเหล่านี้ รวมทั้งน้ำที่ใช้ล้างสีน้ำตาลสกปรก ๆ นี่แหล่ะครับ ไปใส่ในกระถางที่ใช้เลี้ยงสาหร่าย (ไม่มีปลานะครับ) แน่นอนว่าก้นกระถางที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายก็เต็มไปด้วยหินพัมมิสที่ไม่ใช้แล้ว ผลปรากฎว่าสาหร่ายนี่เขียวงามเลยครับ น้ำในกระถางก็ใส  คือถ้าเรารู้หลักการของวัฏจักรด้านบน เราก็สามารถที่จะลองพิสูจน์ดูได้ ถ้ามันเป็นจริงตามนั้นผลก็ออกมาให้เราเห็นครับ เลี้ยงปลาทองเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ครับ ก็สนุกดีไปอีกแบบ สาหร่ายที่มีก็เก็บไว้ เผื่อปลาทองไล่ ๆ กัน เราก็เอามาใส่ให้ปลาทองไข่ได้อีก  ใช้คุ้มค่าหล่ะครับอาหารกลายเป็นขี้ปลา ขี้ปลากลับมาเป็นสาหร่าย ธรรมชาตินี่ก็สร้างอะไรเก่งนะครับ


ไบโอบอลทำหน้าที่หักเหกระแสน้ำ เพื่อให้มีพื้นที่ผิวมาก อากาศจะได้สัมผัสกับน้ำมาก ทำให้เกิดมีอ็อกซิเจนละลายในน้ำมาก  ซึ่งอ็อกซิเจนจำเป็นต่อปลา และแบคทีเรียดี  การหักเหของน้ำคือการทำให้น้ำที่ไหลจากด้านบนจากชั้นของใยกรองกระจายตัวออก เมื่อน้ำจำนวนเยอะ ๆ กระจายตัวออกมันก็จะยิ่งทำให้น้ำเป็นผิวบาง ๆ ลงทำให้ก๊าซอ็อกซิเจนละลายลงไปในน้ำได้ดีขึ้น ทำให้การเลี้ยงแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้สายอ็อกซิเจนเข้าไปเป่าในน้ำ น้ำที่ถูกกระจายตัวก็จะตกลงบนชั้นถัดไปคือชั้นของวัสดุที่เป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียได้ทั่วถึงยิ่งขึ้นด้วย (แต่ประเด็นหลังนี้ก็ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่เพราะผมปล่อยน้ำท่วมชั้นหิน)

ชั้นหินพัมมิส ชั้นนี้เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียดี เมื่อก่อนผมเคยใช้เศษปะการังหัก แต่เห็นเขาบอกต่อมากันว่ารูพรุนมันสู้หินพัมมิสไม่ได้ และก็ทำให้น้ำเป็นเบสมากไปด้วยก็เลยไม่ใช้ ปกติน้ำที่ผมใช้ก็เป็นเบสอ่อน ๆ อยู่แล้ว แต่จะใช้ก็ไม่มีผลอะไรมั้งครับแล้วแต่สะดวก แต่ก็เคยเห็นคนบอกว่าเป็นการสนับสนุนการทำลายปะการังนะ สรุปที่เลิกใช้เพราะรูพรุนสู้ไม่ได้, เพิ่มความเป็นเบสของน้ำ, สนับสนุนการทำลายปะการัง ก็เลยเปลี่ยนออกเอาเป็นหินพัมมิสเข้ามาใช้แทน ในส่วนนี้แนวคิดของผมคือถ้าเรามีแบคทีเรียมากก็จะสามารถรับมือกับแอมโมเนียได้ดีขึ้น  ... ผมเคยใช้เมื่อช่วงแรก ๆ ในตอนเริ่มเลี้ยงปลาทองก็ไม่เห็นผลเสียของมันนะครับ ในเรื่องการใช้ปะการังหักนี้ก็ไม่มีความเห็นที่ชัดเจนนะครับ แล้วแต่ว่าใครจะใคร่ใช้ก็ใช้ไป ผมยังแอบคิดว่าบางทีมันก็เล็กแล้วก็ละเอียดกว่าหินพัมมิสด้วยซ้ำทำให้กรองเราดูจะแน่นขึ้นด้วย  คือถ้าในชั้นนี้มีช่องว่างมากเราเสียประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีช่องว่างเลยน้ำก็จะไม่ไหลไปให้ปั๊มดูดกลับไปอีก ก็ต้องพยายามหาจุดสมดุลตรงนี้ แต่ถ้าถามในใจผมผมคิดว่าถ้าเอาซับเสตรทโปรอัดลงไปทั้งหมดจะเกิดอะไรขึ้นนะ แบบว่ารูพรุนมหาศาล ช่องว่างระหว่างหินก็น้อย (ก็ได้แค่จินตนาการนะครับ เพราะจริง ๆ แล้วก็เกินความจำเป็น แล้วก็ราคาแพงมากเลยหากต้องใช้ปริมาณเยอะขนาดนั้น)

ระดับน้ำในกรองผมก็จะอยู่ท่วมชั้นของหินเท่านั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่ควรจะไปท่วมไบโอบอล เพราะเดี๋ยวเราจะเสียประโยชน์ที่ควรจะได้จากชั้นไบโอบอลไป

ระบบกรองนี่ดี หรือไม่ดี ดูที่มันตอบโจทย์ในเรื่องของของเสียที่เกิดขึ้นในตู้ได้หรือเปล่า แต่ผมคิดว่าระบบกรองจะต้องดีเกินมาหน่อยหนึ่ง จะให้ดีแบบพอดี ๆ ก้ำกึ่งนี่ก็อันตรายเกินไป เอาเป็นว่าจัดไปให้ดีที่สุดหล่ะกันครับ ระบบกรองดีมีชัยไปเกินกว่าครึ่ง (แต่มันก็อาจจะบอกยากว่ามันรับพอดีกับปลา ๆ ในตู้หรือเปล่านะ)

สำหรับคนที่เลี้ยงปลาตู้เล็ก ๆ อาจจะใช้กรองพื้นหรือ กรองกระปุก กรองกระปุกก็หน้าตามีหลากหลายครับตั้งแต่เป็นกรองฟองน้ำ หรือกรองที่มีชั้นใยกรอง สิ่งเหล่านี้ก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือพยายามทำให้แบคทีเรียนั้นมีที่อยู่อาศัยซึ่งเวลาทำความสะอาดก็จะต้องคำนึงถึงแบคทีเรียเหล่านี้ดี ๆ ถ้าไม่สนใจความสวยงามมากนักการใช้หินพัมมิสก้อนเล็ก ๆ มารองพื้นก็ช่วยเพิ่มที่อยู่แบคทีเรียได้ แต่ก็ต้องระวังเศษอาหารหรือของเสียของปลาทองที่อาจจะตกไปในซอกหลืบระหว่างหินด้วย และการทำความสะอาดก็อาจจะยากขึ้น

เอาหล่ะมาถึงการล้างกรอง เพราะการจัดกรองแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเมื่อมันเป็นกรองมันอาจจะมีเศษขี้ปลาไหลลงมากองหมักหมมกันอยู่ในช่องกรองนี้ ก็เลยจะต้องมีการล้างกรองเกิดขึ้น ความถี่ของการล้างกรองนั้นมีไม่เท่ากัน อย่างของผมนี่ถ้าเริ่มเห็นเศษขี้สีน้ำตาล ๆ เกาะหินในระดับหนึ่งจึงจะเริ่มล้าง ในอินเตอร์เน็ตก็มีหลายสูตร เช่น เดือนละครั้ง (สำหรับผมคงไม่ไหว) , 6 เดือนครั้ง อันนี้ไม่มีความเห็น เพราะของผมกว่าจะล้างก็นานกว่า 6 เดือน เพราะกรองผมมองเห็นระดับความสกปรก ระดับของเศษขี้ปลาสีน้ำตาล ๆ ที่พลัดตกลงมากองในชั้นนี้ได้ง่าย  ผมก็เลยแนะนำว่าจริง ๆ แล้วการล้างกรองจะทำถี่แค่ไหนนั้นคงไม่มีสูตรตายตัว เพราะการจัดกรองไม่เหมือนกัน ดูตามความเหมาะสม ดูจากเป้าประสงค์หลักคือการเอาของเสียที่หลง ๆ เข้ามาสะสมออก มันจึงไม่มีเวลาที่แน่นอนตายตัว เพราะจำนวนปลา, การให้อาหาร, การจัดชั้นต่าง ๆ ของกรอง ชนิดของกรอง ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน

การล้างกรองนั้นอ่านผ่าน ๆ ก็คือเหมือนกับเอาน้ำสะอาด ๆ มาล้างทำให้กรองสะอาด แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่!  ผมแนะนำว่า การล้างกรองคือการทำไงก็ได้ ให้เอาเศษขี้สีน้ำตาล ๆ หรือจะเศษที่มองเห็นได้ด้วยตาออกมากที่สุด ไม่เอาน้ำสะอาด น้ำประปา น้ำกิน ไปล้างในชั้นหินให้สะอาด  ถ้าหินมันเปื้อนเศษขี้ปลา หรืออะไรก็แล้วแต่ให้เอาน้ำที่เลี้ยงนั่นแหล่ะล้างออก เพื่อที่จะเก็บรักษาแบคทีเรียให้ได้มากที่สุด

ถ้าหินมันเริ่มเก่า ผุพัง ดูจากสภาพแล้วไม่น่าจะใช้งานได้อีกต่อไป เพราะเต็มไปด้วยเมือก หรือตะไคร่น้ำมาอุดรูพรุนของหิน ก็ต้องเปลี่ยนเอาหินใหม่ใส่เข้าไปแทนเพื่อใช้งาน  แต่แนะนำว่าให้เอาหินเก่าใส่ถุงตาข่าย ถุงผ้า แล้วย้ายไปอยู่ในตู้ปลาสักสัปดาห์หนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยเอาหินเก่าออกไปทิ้ง  เพื่อรักษาประชากรของแบคทีเรียชั้นดีของเราไว้ รวมทั้งเป็นการทำให้กรองที่เต็มไปด้วยหินใหม่กลับมาเซ็ตตัวได้รวดเร็วขึ้น  อาจจะมีการลด หรืออดอาหารปลาไว้ด้วยในช่วงนี้ เพราะกรองยังไม่พร้อมรับปริมาณแอมโมเนียที่กำลังจะมาถึง

สรุปเลยก็คือการล้างกรองคือการเอาเศษขี้ปลาที่หลุดเข้ามาแล้วมากองสะสมหรือมากองอยู่ก้น ๆ กรองของเราออกมานั่นเอง ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อเป็นการลดต้นเหตุ ต้นเหตที่จะทำจำนวนแอมโมเนียที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการสะสมของของเสีย ดังนั้นการล้างกรองจึงไม่ใช่การล้างให้สะอาดเหมือนล้างจาน อย่าเข้าใจผิดหล่ะ





พิษแอมโมเนีย และไนไตรต์

จากที่เคยเจอมากับตัวเอง และอ่านเจอมา ถ้าเป็นพิษของแอมโมเนีย ปลาจะมีอาการนอนจมก้นตู้ครับ คือท้องจะแตะพื้นตู้ ถ้าสังเกตดูเหงือกจะเห็นว่าไม่ค่อยขยับเหมือนปลามันไม่อยากหายใจนะครับ ผมคงไม่สรุปเป็นตัวเลขนะครับว่าเข้มข้นเท่าไหร่จึงจะเห็นอาการ ถ้าเจออาการเหล่านี้

  • ปลาทองนอนก้นตู้ อาจจะเป็นมุม ๆ ที่หลบสายตา
  • เหงือกของปลาแทบไม่ขยับ รวมทั้งปากปลาด้วย เพราะว่าปลาทองที่อ้าปากกินน้ำตลอดเวลานั้นก็คือการหายใจ ฮุบน้ำเข้าไปสร้างแรงดันให้น้ำไหลผ่านซี่เหงือก เมื่อไม่อยากหายใจเพราะเหงือกอักเสบโดนพิษแอมโมเนียเข้าไป ปากเลยจะปิดไม่ขยับเหมือนปกติ และเมื่อไม่มีการแลกเปลี่ยนอากาศ ก็ต้องนอนเฉย ๆ จะร่าเริงไม่ได้ เพราะเหมือนคนหายใจไม่ออก แล้วให้ไปวิ่ง ก็ไม่ไหวประมาณเดียวกัน
  • ครีบมีการเป็นฝ้า หรือครีบเปื่อย มีการตกเลือดที่ครีบต่าง ๆ โดยเฉพาะครีบหางจะเห็นได้ชัด ครีบจะแหว่ง ๆ วิ่น ๆ บางทีก็จะมีรอยฉีกขาดยาว ๆ 
  • เวลาให้อาหารก็ว่ายมากิน แต่กินเสร็จก็จะกลับไปนอนก้นตู้เหมือนเดิม

สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าแอมโมเนียจะไปทำลายเซลล์เมมเบรนบริเวณเหงือกครับ ทำให้เหงือกอักเสบ ซึ่งเหงือกก็เป็นอวัยวะที่ใช้ในการหายใจของปลา หลักการของการหายใจของปลาทองคือเอาปากฮุบน้ำแล้วดันน้ำให้มีแรงดันไหลผ่านเหงือก เหงือกก็จะเต็มไปด้วยเส้นเลือดของปลา ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซเกิดขึ้น

เมื่อเหงือกอักเสบก็จะทำให้ปลาไม่อยากที่จะหายใจ และเชื้อแบคทีเรียร้าย ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคในปลาก็จะได้จังหวะนี้ในการเข้าไปอาละวาดในตัวปลาจึงทำให้ปลาป่วย และก็รักษาหายยาก ผมเองยังไม่เคยรักษาปลาทองหายเลยเลยยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผล คือถ้าปลาทองติดเชื้อมานาน ๆ ปลาก็จะป่วยหนักขึ้นแล้วก็ตาย วิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องป้องกันอย่าให้น้ำเรามีแอมโมเนียสูงขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายกว่า

พิษของไนไตรต์ที่เคยเจอมาด้วยตัวเอง นี้จะเป็นตอนเลี้ยงลูกปลา แล้วให้ไข่แดง แล้วด้วยความที่ภาชนะที่เลี้ยงปลามันกว้าง ลูกปลาตัวนิดเดียวหาอาหารไม่เจอ อาหารเลยเหลือเยอะไปหน่อย ทำแบบเดิมหลาย ๆ วันเข้าไม่ได้ถ่ายน้ำ แล้วมาตรวจน้ำเจอว่ามีไนไตรต์สูงมาก ลูกปลาก็จะป่วยเป็นโรคจุดขาว รวมทั้งก็ทยอยตายไปหลายตัว

น้ำตัวอย่างจากกะละมังเลี้ยงลูกปลา จะเห็นได้ว่าไนไตรต์สูง แอมโมเนียก็จัดว่าสูง ไนเตรตก็สูงได้อยู่
อาการป่วยของปลาเองไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด ต้องหมั่นสังเกตปลาครับ ว่ามันจะซึมหรือมันว่ายน้ำหาอาหารกินตามปกติของมันดี อาจจะต้องลองสังเกตอยู่ห่าง ๆ เพราะปลาทองนี่เวลาคนเข้าใกล้มันจะว่ายเข้ามาเพื่อขออาหารกินทำให้บางทีกว่าจะรู้ว่าป่วยก็คือมีอาการหนักเสียแล้ว   ปลาทองที่แข็งแรงต่อให้ไม่มีคนปลาก็จะต้องว่าย ทำมาหากินไปตามเรื่องตามราวของมันครับ มันจะไม่ลอยตัวนิ่ง ๆ รอจนคนเดินเข้าไปใกล้แล้วจึงจะรู้สึกว่าตัวเองต้องว่ายน้ำเพื่อหาของกิน การหายใจก็จะต้องหายใจได้ตลอดเวลาปากและเหงือกขยับได้ดีเป็นจังหวะเดียวกัน  ปลาที่มีอาการข้างต้นที่ผมเกริ่นไปนี้คืออาการป่วยที่ค่อนข้างจะหนักเสียแล้ว   บางทีกว่าจะแสดงอาการออกมานี้ก็ค่อนข้างที่จะสายเกินแก้ไปแล้วแต่เราก็มักจะแก้กันในจุดนั้น จุดที่แสดงอาการต่าง ๆ ออกมา ทำให้การรักษานั้นทำได้ค่อนข้างยากและปลาตายเสียส่วนใหญ่ อย่างน้อยผมก็ยังไม่เคยรักษาสำเร็จสักครั้ง ถ้าสำเร็จเมื่อไหร่ก็จะเอามาเขียนบอกต่อแน่นอนครับ


อุบัติเหตุตู้แตก ตู้รั่ว ต้องส่งซ่อมและย้ายปลาไปเลี้ยงในกะละมังชั่วคราว

ผมเองก็เคยเจอปัญหาตู้ปลาแตก โชคดีที่นั่งทำงานอยู่แถวนั้นพอดี ก็เลยได้สามารถที่จะเก็บปลาไว้ได้ทัน ทีนี้พอตู้ปลาแตกแล้วตู้ปลามันใหญ่ก็ต้องใช้เวลาส่งซ่อม ซึ่งอย่ากระนั้นเลยเพราะว่าตู้ปลาผมเองก็ใช้กระจกบางไม่แน่ใจว่ากี่หุนแต่ก็คือบางแหล่ะ ตอนซื้อตอนแรกไม่รู้ก็ไปชี้ ๆ เอาตามที่เขาประกอบตู้เสร็จไว้แล้ว

ก็เลยซื้อใหม่เลยใช้ขนาดเดิม เพราะขาตั้งเดิมยังมีอยู่ แต่เพิ่มความหนาของกระจก แต่ดันร้านบอกว่าตอนนี้ยังไม่มีนะต้องสั่งกระจกมาตัดใหม่ก็เลยมีอันต้องย้ายสมาชิกทั้งหมดลงไปเลี้ยงในกะละมัง ก็ประมาณ 20 วัน นั่นแหล่ะกว่าจะได้ตู้มาใหม่

มีหลายคนที่เลี้ยงปลาทองในตู้ไม่เป็นอะไร พอเกิดอุบัติเหตุต้องย้ายปลาไปเลี้ยงในกะละมัง ปลากลับตายซะอย่างนั้น ที่เป็นอย่างนั้นเพราะไม่เข้าใจหลักการการควบคุมระดับของแอมโมเนีย เวลาย้ายลงกะละมังก็ยังให้อาหารแบบเดิม เท่าเดิม ก็เลยทำให้ปลาโดนพิษแอมโมเนียเล่นงาน

สิ่งที่ควรทำเลยถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น

  • ตอนที่ตู้ปลาแตกนั้น เราสามารถเก็บน้ำเก่าได้ไหม ? ถ้าเก็บน้ำมาได้ก็ใช้น้ำเก่า
  • หินที่อยู่ในกรองก็เก็บมาด้วย เอามาใส่ถุงตาข่ายแล้วแช่ไว้น้ำที่ใช้เลี้ยงในกะละมังนั่นแหล่ะ แบคทีเรียจะได้ยังอยู่
  • ใช้กรองฟองน้ำ หรือกรองกระปุกแทนหัวทราย เกิดในกรณีที่ต้องอยู่กะละมังเป็นระยะเวลานาน ก็แนะนำให้ใช้กรองกระปุก หรือกรองฟองน้ำ จะดีกว่าใช้หัวทราย
  • ถ้าปลามากก็ต้องเฉลี่ยหลายกะละมัง อย่าจับยัดลงกะละมังเดียว
  • ลดหรืองดอาหาร
  • เปลี่ยนน้ำน้อย ๆ ทุกวัน สม่ำเสมอ กำจัดเศษขี้ปลาออกให้หมดด้วย
  • ใช้ Chemical Filtering เข้าช่วย ก็คือพวกซีโอไลต์ + ชาร์โคล ในการดูดซับแอมโมเนีย ไนไตรต์ และไนเตรต




อากาศหนาวเย็น ปลาทองป่วยตายทุกทีซิน่า
เคยเป็นไหมครับเวลาหน้าฝน อากาศเย็น ๆ ปลาป่วยซึม หน้าหนาวอากาศเย็น ๆ ปลาก็ป่วยซึม  จากที่ผมเลี้ยงมาผมสังเกตว่าปลาทองเลี้ยงรอดสบาย ๆ ตอนอากาศร้อน หรือหน้าร้อน คือปลาไม่ค่อยป่วยและตายในช่วงอากาศร้อน

มีคนเคยบอกว่า "พออากาศเปลี่ยนปลาทองปรับตัวไม่ทันก็เลยป่วยแล้วตาย" บางคนก็จะมีฮีทเตอร์ติดบ้านไว้ ผมเองก็มี แต่เอาไปใช้กับปลาป่วย  เพราะผมไม่คิดว่าฮีทเตอร์มันจะทำความร้อนให้ตู้ใหญ่ ๆ ได้หน่ะสิ น้ำตั้ง 300 ลิตร จะทำให้อุณหภฺูมิสูงขึ้น 3 - 4 องศา นี่ คงไม่ง่ายนัก

คำอธิบายด้านบนมันก็มีข้อที่น่าฉงนตามมาอีกคือว่า ตอนที่ผมได้ไปดูฟาร์มปลาทองที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผมก็เห็นเขาเลี้ยงกันในบ่อซีเมนต์ขนาดกว้าง ๆ หน่อย เลี้ยงกลางแจ้งเสียด้วยซ้ำ แล้วถ้าอากาศเย็น ฝนตก  ปลาเขาไม่ตายกันหมดเหรอ ?   อีกเรื่องหนึ่งเราก็รู้ว่าปลาพวกนี้ไม่ใช่เมืองไทยเลี้ยงแค่ประเทศเดียวที่ไหน ต้นกำเนิดปลาทองนั้นก็มาจากจีน , ญี่ปุ่น ที่นั่นถ้าอากาศเย็นนี่มีน้ำแข็งเกิดนะ แล้วคนทางยุโรป อเมริกา เองก็เลี้ยง (แต่ก็เห็นฝรั่งใช้ฮีทเตอร์ให้ความร้อนแหล่ะ)

มันมีข้อที่ยังไม่ไขข้อข้องใจ แต่ก็รู้ว่าการที่อุณหภูมิลด ปลาก็จะป่วย ถึงแม้ว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่อุณหภูมิลดแล้วปลาจะป่วยก็ตาม

คำอธิบายที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นคำตอบที่ให้เหตุผลได้ตรงกว่าคือ "เมื่ออากาศเย็นแบคทีเรียที่มีอยู่ในระบบกรองชีวภาพนั้นทำงานได้ประสิทธิภาพลดลง ทำให้ระดับแอมโมเนียสูงขึ้น ปลาจึงป่วย"    อยากให้นึกถึงตอนที่เราทิ้งอาหารไว้แล้วอาหารบูดสาเหตุของการบูดเสียก็คือแบคทีเรียไปเจริญเติบโตในจานอาหารของเราได้ดีอาหารเราก็เลยบูด กับถ้าเราเอาอาหารไปแช่ในตู้เย็น เราเรียนรู้มาว่าการเอาของกินไปแช่เย็นทำให้บูดเสียช้าลง นั่นเพราะว่าแบคทีเรียนั้นทำงานได้ประสิทธิภาพลดลงในที่ที่อุณหภูมิต่ำ  เช่นเดียวกันเมื่อกรองทำงานได้ประสิทธิภาพลดลงเมื่อตอนที่อากาศเย็นเพราะแบคทีเรียทำงานได้น้อยลง ประกอบกับอากาศเย็นคนเราก็ไม่อยากจะไปโดนน้ำ ก็เลยไม่ได้ถ่ายน้ำตามสมควร อาหารก็ให้ประมาณเดิมเพราะปลาทองตอนแรก ๆ ก็ดูแข็งแรงร่าเริง กินอาหารได้มากอยู่ รวม ๆ แล้วก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แอมโมเนียเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันตรายนั่นเอง และนำมาสู่สถานการณ์ปลาทองป่วย

ซึ่งผมเชื่อว่าอธิบายแบบนี้น่าจะจับต้องได้มากกว่าทฤษฎีการปรับตัวตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไม่ทันของปลาทอง (แบบที่ผมเคยเชื่อ)  คือถ้าเป็นอุณหภูมิอากาศน่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงแป้บเดียวเหมือนกับการซื้อปลาใหม่ ๆ แล้วเอามาใส่ตู้เลยโดยไม่แช่ถุงไว้ก่อน  การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศน่าจะใช้ระยะเวลาเยอะกว่า นานกว่านั้น

ดังนั้นมันจึงตอบโจทย์ที่ว่าทำไมปลาทองที่ฟาร์มที่เลี้ยงแบบเปิดโล่งจึงอยู่รอดได้ ไม่ตาย เพราะจริง ๆ แล้วสิ่งที่ฟาร์มทำ และกำลังทำอยู่คือการควบคุมระดับของแอมโมเนียไม่ให้สูงนั่นเอง เราจะเห็นได้ว่าฟาร์มปลาทองจะฉีดน้ำลงบ่อ แล้วมีระบบน้ำล้นเพื่อให้น้ำถ่ายเท ประกอบกับการการเลี้ยงปลาทองที่ไม่แน่นเลย เพื่อรักษาระดับของแอมโมเนียนั่นเอง ปลาทองจึงไม่ได้หนาวตาย ไม่ได้ป่วยตายเพราะแอมโมเนีย และก็มีสุขภาพที่ดีได้ตลอดเวลานั่นเอง

อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอาจจะส่งผลโดยตรงกับปลาทองน้อย  อาการที่ปลาทองป่วยในช่วงอากาศหนาวเองก็จะสอดคล้องกับอาการที่ปลาทองโดนพิษแอมโมเนียเป็นอาการแบบเดียวกันเลย ซึ่งทำให้ผมคิดว่านี่คือคำอธิบายที่ตอบโจทย์ปัญหาได้ตรงที่สุด

ถึงแม้ตอนที่สร้างบทความนี้จะอยู่ในฤดูร้อน แต่อีกไม่นานก็จะเข้าฤดูฝนลองปรับใช้กันดู ผมเชื่อว่าปลาทองน่าจะรอดได้มากขึ้นกับอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องพึ่งฮีทเตอร์ก็ได้  หัวใจหลักใหญ่ก็คือการควบคุมระดับแอมโมเนียให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดอาหารหรือการกำจัดของเสียออก  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าลืมว่าถ้าเราทำการล้างกรอง หรือเปลี่ยนน้ำในช่วงที่อากาศหนาวเย็น แน่นอนว่าเราก็ต้องใช้น้ำเย็นตามไปด้วย การทำให้น้ำในตู้ หรือในบ่อเลี้ยงเย็นลงก็ต้องพึงระวังไว้ในส่วนของการให้อาหารด้วย เพราะตอนนี้แบคทีเรียทำงานได้น้อย  ดังนั้นผมจึงแนะนำว่าถ้าอากาศเย็น ตู้ปลาเรามีอุณหภูมิลดลง เราก็จะต้องปรับการให้อาหารตามไปด้วย ระบบจะได้เป็นไปอย่างสอดคล้องกัน อาจจะต้องให้ลดลงหรือให้น้อยลง ซึ่งบ้านเมืองเราอุณหภูมิส่วนใหญ่ก็จะร้อน  พอเจออากาศเย็นเราก็ลืมระวังตัวด้วยความที่ไม่ชิน เผลอให้อาหารเหมือนตอนที่อากาศปกติ(คือร้อน) ก็เป็นการส่งให้แอมโมเนียสามารถที่จะเพิ่มจำนวนและเพิ่มความเข้มข้นขึ้นได้ง่ายเพราะแบคทีเรียทำงานลดลงในขณะที่ของเสียยังมีจำนวนคงเดิม ก็จะเป็นเหตุทำให้ปลาป่วยได้ง่าย  ยิ่งถ้าเป็นการเลี้ยงแบบกลางแจ้งอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็วก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของความสะอาดในส่วนของปริมาณของเศษของเสียต่าง ๆ  และการให้อาหารเป็นพิเศษ เพราะเหมือนแบคทีเรียทำงานครึ่งเดียวคือในตอนกลางวัน พอตกกลางคืนประสิทธิภาพของแบคทีเรียลดลงก็จะทำให้แอมโมเนียมีความเข้มข้นสูงในตอนกลางคืนได้  ถึงแม้ว่าอาการป่วยของปลาอาจจะไม่แสดงอาการเด่นชัด แต่จากประสบการณ์ ผมคิดว่าถ้าน้ำมีระดับแอมโมเนียที่เป็นพิษกับปลา คือปลาได้รับพิษบ้างไม่ได้รับพิษบ้าง ซึ่งเกิดจากน้ำที่เราเลี้ยงไม่ได้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา บางทีปลาเหล่านี้อาจจะเลี้ยงอยู่ได้นาน คือจะไม่สังเกตเห็นอาการของการโดนพิษแอมโมเนียให้เห็นชัด ปลาทองยังคงน่ารักน่าเลี้ยงร่าเริงกินเก่ง ซึ่งอาจจะเลี้ยงได้เป็นระยะเวลาหลายเดือน หรือปี แต่ท้ายที่สุดแล้วปลาจะป่วยในลักษณะของการติดเชื้อภายใน อวัยวะบางอย่างของปลาทองทำงานผิดปกติ ส่วนใหญ่มักจะจบลงด้วยอาการเสียการทรงตัว เช่นว่ายน้ำหงายท้อง หรืออาจจะจมน้ำไม่สามารถลอยตัวได้ หรืออาจจะพบว่ามีอาการของเกล็ดตั้งชันขึ้นมา ซึ่งมักจะแก้ไขได้ยาก หรือแก้ไขไม่ได้เลย  (ซึ่งอันนี้ยังไม่ขอสรุปชัดเจน ยังเป็นเพียงแค่สมมติฐานที่ตั้งขึ้นมา เพราะอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดในระยะเวลาสั้น ๆ คือต้องเก็บข้อมูลอีกมาก)

ในบางครั้งการที่อากาศหนาวเย็นแล้วระบบกรองของเรานั้นไม่ได้กำจัดแอมโมเนียที่ดีพออาจจะทำให้ปลาป่วยในลักษณะอาการของโรคจุดขาว ซึ่งอาจจะมองเป็นเรื่องดีหรือเปล่าเพราะเหมือนได้รับสัญญาณเตือนว่าต้องปรับปรุงระบบการเลี้ยงปลาของเราแล้วนะ Biological Filtering เราทำงานได้ดีบ้างไม่ดีบ้างแล้วนะ เรียกว่ามีปัญหานั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะต้องหมั่นสังเกตอาการปลาทองด้วยว่าเขายังขยันว่ายน้ำไหม ขยันหาอาหารไหม เพื่อให้แน่ใจว่าปลายังมีสุขภาพที่ดีอยู่ตลอดเวลา

สำหรับผมนั้นผมค่อนข้างจะมีปัญหาช่วงหน้าฝนมากกว่า เพราะน้ำที่ผมใช้เลี้ยงปลาทองก็จะเอาไปรดน้ำต้นไม้อีกทีหนึ่ง แล้วหน้าฝนนี้แดดไม่มี บางช่วงฝนตกแบบติดต่อกันหลายวัน ด้วยความเสียดายน้ำ คือไม่อยากถ่ายน้ำทิ้งไปโดยไม่ได้รดต้นไม้ ต้นไม้เองช่วงนี้ฝนตก ดินแฉะเชียว คงไม่จำเป็นต้องรดน้ำต้นไม้ มันก็เลยทำให้ผมไม่ได้ถ่ายน้ำปลาออกเลย แถมอากาศก็ยังเย็นตลอดเวลา ก็เลยทำให้ปลาทองจะแสดงอาการป่วยได้ง่าย ๆ ปลาทองบางตัวที่มีหางยาว ๆ ครีบยาว ๆ  มักจะอ่อนแอกับระดับแอมโมเนีย ปลาทองที่ว่ามานี้หางจะไปก่อนเลย คือขอบหางเขาจะเริ่มไม่เรียบ เปื่อยขาด แหว่ง ๆ นี่เป็นสัญญาณเตือนเลยว่าแย่แล้วน้ำมีแอมโมเนีย มีปัญหากำลังเกิดขึ้นแล้วนะ  ครั้นจะใจร้อนเปลี่ยนน้ำทีละเยอะ ๆ นั้นก็ไม่ดีเดี๋ยวปลาจะมีอันเป็นไปเร็วกว่าเดิม จึงจำเป็นจะต้องมีการถ่ายน้ำออกบ้าง ใจเย็น ๆ เราถ่ายน้ำเยอะไม่ได้ เอาใยกรองออกมาซัก หรือเปลี่ยนใยกรองใหม่ ใยกรองถ้าทำดี ๆ ก็จะดักจับของเสียได้เยอะทีเดียวดังนั้นการจัดการทำความสะอาดใยกรองจะทำให้แอมโมเนียเพิ่มระดับได้น้อยลง แต่แอมโมเนียที่มีอยู่แล้วในน้ำก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปให้แบคทีเรียเปลี่ยนเป็นไนเตรต   ....  เฉพาะในหน้าฝนนี้การถ่ายน้ำทีเดียวเยอะ ๆ นี้ ผมคิดว่าควรเป็นเรื่องต้องห้ามเลย  นี่ยังไม่นับรวมถึงเป็นฤดูที่การประปามักจะใส่คลอรีนเยอะด้วยนะ  คือช่วงนี้เป็นช่วงที่ฝนตก พวกเศษดิน เศษอินทรีย์วัตถุมันไหลเข้าไปสู่ในกระบวนการผลิตน้ำประปาเยอะ ก็ทำให้เขาใส่คลอรีนมาเยอะตามไปด้วย ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ถ้ามีพยากรณ์อากาศมาว่าพายุจะเข้า ฝนจะตกต่อเนื่องหลายวัน ทางที่ดีคือกำจัดของเสียออกจากระบบให้มากที่สุด แล้วก็งดหรือลดอาหารเตรียมรอรับสถานการณ์ไปเลย (เพราะพิษแอมโมเนียเกิดจากของเสียเก่าสะสม ไม่ใช่ของเสียที่พึ่งจะขับถ่ายออกมาใหม่ ๆ)  จนกว่าอากาศจะกลับมาเป็นปกติของบ้านเรา ก็คือร้อนนั่นเอง ซึ่งเป็นสภาวะที่แบคทีเรียทำงานได้ดี ดังนั้นการสังเกตโรคนั้นถ้าเห็นก่อนที่อาการจะไปถึงระดับซึมนอนก้นตู้ แล้วแก้ไขได้ก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยที่จะทำให้การเลี้ยงปลาทองนั้นรอดตายไปได้นาน ๆ


บทสรุปคือผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในบ้านเราคือมีหนาวไม่ยาวนานนัก ไม่น่าจะส่งผลโดยตรงกับปลาทอง เหมือนการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลัน(เช่นการย้ายปลา)  แต่ส่งผลทางอ้อมเพราะอากาศเย็นลงทำให้แบคทีเรียในระบบกรองเราทำงานได้ประสิทธิภาพลดลง ในตู้ที่มีการเลี้ยงปลาทองแน่นก็จะเจอปัญหา  สิ่งที่น่าจะทำในช่วงที่อากาศกำลังเริ่มจะเย็น ๆ ลง คือการลด หรืองดการให้อาหารปลาทอง การจัดการกับของเสียในตู้ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพื่อเตรียมรับกับภาวะแอมโมเนียที่จะสูงขึ้น แต่เป็นไปได้ช่วงที่กำลังจะเปลี่ยนฤดูนั้นก็อาจจะต้องทำการล้างกรองสักทีหนึ่งเพื่อเตรียมรับมือ หรืออาจจะเป็นการใช้ฮีทเตอร์ถ้าอยากจะเสริมความมั่นใจ เพราะน้ำที่ร้อนก็จะทำให้แบคทีเรียทำงานได้ดีต่อไป แต่อาจจะไม่จำเป็นนักเพราะเป็นการสิ้นเปลืองไฟฟ้า และในภาวะที่อากาศเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ เช่นหนาวจัด 2 - 3 วัน แบบอากาศเมืองไทยที่หาความแน่นอนไม่ได้แล้วในยุคนี้  ถ้าพบว่าน้ำเย็นนักอาจจะต้องดูดของเสียออกบ้าง และพยายามอย่าใส่น้ำเย็นลงไป อาจจะหาน้ำที่ให้ความร้อนผสมลงไปบ้าง เพราะการใส่น้ำเย็นลงไปไม่ช่วยให้แบคทีเรียทำงาน   การใช้ Chemical Filtering (พวกซีโอไลท์) เฉพาะในช่วงนี้ก็เป็นอีกทางเลือกที่สมมติว่าฉุกละหุกจริง ๆ




การรักษาปลาทอง การใช้ยาเหลือง ยาเหลืองญี่ปุ่น

ในหัวข้อนี้ผมเองบอกก่อนเลยว่าไม่ไ้ดเซียนการรักษาปลา แต่จะเป็นการบอกเล่า + สมมติฐานที่เกิดจากการรักษาปลาทองตลอดเวลาที่ผ่านมา

อันดับแรกเลยคนเลี้ยงปลาทองมักจะมียาตัวหนึ่ง ชื่อว่ายาเหลืองญี่ปุ่น ยาตัวนี้ตัวยามีสีเหลืองเลยมีลักษณะเป็นเกร็ดเป็นของแข็ง เวลาใส่ในน้ำก็จะละลายแล้วทำให้น้ำกลายเป็นสีเหลืองใส ๆ สวยดี ผมคิดว่ายาตัวนี้น่าจะเป็นพวก Tetra หรือเปล่าไม่แน่ใจคือเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ยาตัวนี้ไม่ได้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเฉพาะแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคเท่านั้น แต่ยังฆ่าเชื้อแบคทีเรียดีที่อยู่ในกรองของเราอีกด้วย คืออะไรก็ตามที่เป็นแบคทีเรียที่ไม่ทนต่อยาชนิดนี้ ซึ่งก็คิดว่าส่วนใหญ่จะไม่ทน ก็จะต้องตายกันไปหมด นั่นแปลว่าถ้าเราเอายานี้ใส่ลงในตู้ แบคทีเรียตายยกเข่งแน่นอนกรองจะล่มทันที แล้วก็แอมโมเนียก็จะยังคงค้างอยู่ และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย ดังนั้นคำแนะนำแรกเลยคืออย่าใส่ยารักษาปลาใด ๆ ลงในตู้หรือภาชนะที่เลี้ยงปลาอยู่

การรักษาทั่วไปที่ค้นหาได้ในอินเตอร์เน็ตก็คือ แยกปลาออกมา แล้วก็ใส่เกลือ เปิดอ็อกแรง ๆ อะไรก็ว่าไป ผมเห็นด้วยกับการแยกปลาออกมาแต่แยกปลาออกมานั้นผมอยากจะแนะนำให้ใช้น้ำเดิมในตู้ที่เลี้ยงแบ่งออกมา เพราะการใช้น้ำใหม่เลยบางทีปลาก็ปรับตัวไม่ทัน ปลาทองที่กำลังป่วยนั้นอ่อนแอ บางทีก็เหมือนจะเร่งให้ตายไวขึ้น

การดูแลเรื่องของระดับแอมโมเนียหลังจากแยกปลามาแล้วก็สำคัญอยู่ จะต้องมีมาตรการในการดูแลปัญหาตรงนี้ซึ่งถ้าป่วยด้วยพิษแอมโมเนีย มาแสดงว่ากรองเราก็มีปัญหา เราคงจะหาแบคทีเรียดี ๆ ได้ไม่ทัน เพราะฉะนั้นทางเลือกที่เหลือก็คือการใช้ Chemical Filter ก็คือการเอาหินซีโอไลท์มาใส่ไว้เพื่อดูดซับแอมโมเนียเพื่อลดปริมาณแอมโมเนียในน้ำเดิม แนะนำว่าให้ค่อย ๆ หยอดเพิ่มปริมาณลงไปอย่าใส่ตูมเดียวเยอะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป

ทีนี้ก็เป็นเรื่องของการใส่ยาก็ใส่กันไปตามขนาดที่คิดว่าเหมาะสมหล่ะกัน ผมเองก็ไม่มีอัตราส่วนบอกเพราะก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอัตราส่วนที่เหมาะสมนั้นคือเท่าไหร่ ซองยาญี่ปุ่นเองก็ไม่มีบอกเหมือนกันแปลกดี ผมเคยเอามือถือเปิดโปรแกรม google translate ให้มันช่วยแปลภาษาญี่ปุ่น จับใจความคร่าว ๆ ได้ประมาณว่าเป็นส่วนผสมของยา ไม่เห็นมีขนาดและวิธีการใช้นะครับ


ยาเหลืองญี่ปุ่นหาซื้อได้ตามร้านขายปลาทองทั่วไป

ถ้าจะใส่เกลือก็ใส่ลงไปครับ แต่แนะนำว่าอย่าใส่มากจนเกินไปอีกนั่นแหล่ะ ต่างประเทศบอกว่าประมาณ 0.03% - 0.05% ซึ่งก็ไม่ใช่ปริมาณที่เยอะมากอะไรนะครับ ลองยกตัวอย่างคำนวณเล่น ๆ ดูนะครับ ถ้าน้ำมีปริมาณ 100 ลิตร (100 กิโลกรัม)  0.03% ของ 100 กิโลกรัม = 0.03 กิโลกรัม หรือประมาณ 30 กรัม แค่นั้น คือเรียกว่าไม่ถึงครึ่งขีดด้วยซ้ำ ซึ่งถือว่าน้อยมาก ผมเห็นหลายคนมากที่ใช้เกลือในขั้นตอนของการเลี้ยง คือเขาเลือกที่จะใส่เกลือกันตามปกติแม้ว่าปลาจะไม่ป่วย ผมก็เห็นอยู่ในอินเตอร์เน็ตนะครับมีคนใช้สูตรใส่เกลือเลี้ยง ส่วนใหญ่จะอิงหน่วยเป็นกำ (กำมือ) แต่จากที่ผมหาความรู้มาก็ยังไม่พบประโยชน์ของเกลือในความเข้มข้นสูง ๆ อย่างชัดเจนนัก ผมให้ข้อมูลได้แค่ว่าผมไม่เคยใส่เลยครับ ผมเชื่อว่าปลาทองทนความเค็มได้ในระดับที่ค่อนข้างดีจึงทำให้ปลาไม่เป็นอะไรมากนัก แล้วเกลือไปช่วยฆ่าปรสิตบางชนิด ดังนั้นการใช้เกลือในระดับความเข้มสูง ๆ จึงไม่ควรใช้ต่อเนื่องติด ๆ กันเป็นระยะเวลายาวนาน  แล้วยิ่งการเลี้ยงแบบที่บทความผมนำเสนอนี้การจะหาปริมาณการใส่เกลือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะว่าจะเห็นว่าผมเห็นด้วยที่ให้ถ่ายน้ำส่วนน้อย ซึ่งการถ่ายน้ำส่วนน้อยก็จะทำให้ความเข้มข้นของเกลือเปลี่ยน  การจะทำให้ความเข้มข้นเท่าเดิมนั้น กลับมาเท่าเดิมนั้นก็ทำได้แต่ยุ่งยากอยู่เหมือนกัน คือถ้าความเข้มข้นมันไม่เพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันตรายกับปลาทอง ปลาทองก็คงไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แสดงออกมา  ผมก็คงไม่นำเสนอตัวเลขว่าความเข้มข้นตรงนี้คือตัวเลขเท่าไหร่นะครับ เพราะเกลือไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับแอมโมเนีย หรือไนไตรต์

เกลือที่ใช้ก็ต้องเป็นเกลือทะเล หรือเกลือสมุทร (บางพื้นที่ของประเทศไทยมีการใช้เกลือหิน ซึ่งจะเป็นคนละอย่างกับเกลือสมุทร) ที่ไม่มีการเติมไอโอดีนด้วยนะครับในขั้นตอนนี้ เกลือแกงตามบ้านส่วนใหญ่มักจะเติมไอโอดีนมาแล้วดังนั้นจึงอาจจะไม่เหมาะที่จะใช้รักษาปลาแต่ไม่ใส่ก็คงไม่เป็นอะไรมาก

และก็แนะนำให้ใช้ซีโอไลต์ในปริมาณที่เหมาะสมกับการรักษาลงไป คือไม่ควรใส่มากจนเกินไป ใช้ในการไปลดระดับของแอมโมเนียในน้ำที่จะเกิดขึ้นตอนที่ทำการรักษา เพราะตอนนี้เราแยกปลาออกมาแถมตอนนี้ยังใช้น้ำเดิมอยู่ งดอาหารครับเพื่อลดการสร้างแอมโมเนีย รวมทั้งถ้าเห็นขี้ปลาที่บางทีอาจจะถูกขับถ่ายออกมาหลังจากที่แยกปลามาแล้ว ก็ดูดออกไป ใช้น้ำน้อย ๆ ที่สุดในการดูดขี้ปลาที่มองเห็นเพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบที่รักษารวดเร็วเกินไป และก็เปลี่ยนน้ำน้อย ๆ ทุกวัน เพื่อเป็นการลดไนเตรตที่เกิดขึ้น แต่ถ้าแอมโมเนียเราลดไปแล้วก็อาจจะไม่มีความจำเป็นบ่อยนักต้องพิจารณาที่สภาพของตัวปลา และปริมาณของเสียเป็นหลัก

หน้าตาของหินซีโอไลต์ที่ซื้อมา ลักษณะก็เหมือนหินธรรมดา ๆ เลยนะ มันจะดูดแอมโมเนียได้จริงเร้อ ลักษณะคล้าย ๆ กับหินที่เขาใช้ในการก่อสร้างทั่ว ๆ ไปมาก (จากการทดสอบแล้วมันลดแอมโมเนียได้จริง ๆ ครับ)

สุดท้ายก็อย่าไปดูมันบ่อยครับมันเครียดอยู่ ต้องให้เวลามันบ้างก็คืออย่าประเมินอาการบ่อย เช่นเราตัดสินใจในการรักษาไปแล้วว่าจะใช้แนวทางนี้ในการทำการรักษา ก็เซ็ตระบบการรักษาไป จากนั้นก็ต้องปล่อยมันทิ้งไว้ คืออาการของปลาจะดีขึ้นเท่าที่ผมดูก็ต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง ในการประเมินอาการของปลาทอง อาจจะดีขึ้น หรืออาจจะแย่ลงก็แล้วแต่

การเลือกแนวทางการรักษาก็จะดูอาการเป็นหลักไป เช่น ถ้าเป็นอาการของพิษแอมโมเนียก็อาจจะวางแนวทางในการรักษาคือการนำปลาไปอยู่ในอ่างที่ว่าง ๆ มีระบบอยู่แล้ว (ซึ่งไม่ค่อยมีหรอกครับ) ควรจะแยกปลาเพราะปลาป่วยจะอ่อนแอ บางทีถ้าเอาไปรวมกับปลาแข็งแรงที่อยู่ในระบบเลี้ยงที่ดีอยู่แล้วก็อาจจะไม่รอดเหมือนกัน เพราะปลาแข็งแรงบางทีก็มาแกล้งตอดปลาอ่อนแอ  ผมจึงแนะนำการใช้ซีโอไลต์ในการรักษาเพราะเราไม่มีระบบว่าง ๆ เตรียมพร้อมรับมือกันนัก และข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือสามารถใช้ยาเหลืองหรือยาปฏิชีวนะควบคู่กันได้ด้วย

แล้วถ้าหากไม่มีหินซีโอไลต์หล่ะ ทำไงดี ? ถ้าหากหาไม่ได้ไม่ทันจริง ๆ แล้วจะต้องทำการรักษา ก็อาจจะต้องเซ็ตระบบที่ใช้น้ำมาก ๆ เพื่อทำให้ความเข้มข้นของแอมโมเนียขึ้นได้ช้า หรือไม่ก็ใช้วิธีนี้ครับ

วิธีนี้ก็จะใช้กะละมัง 2 ใบครับ ใส่น้ำไว้ทั้งสองใบครับ วางไว้ข้าง ๆ กัน ทิ้งไว้สัก 2 - 3 ชั่วโมง เพื่อปรับอุณหภูมิให้เป็นอุณหภูมิห้องก่อน จากนั้นนำปลาใส่กะละมังใบแรกจะใส่ยาใส่อะไรก็ทำเลยครับ พอวันรุ่งขึ้นตอนเช้าผมก็จะเปลี่ยนกะละมัง ไปกะละมังใบข้าง ๆ โดยการเอามือจับปลาไปปล่อยไว้ที่กะละมังใบข้าง ๆ ซึ่งถ้าจะใส่ยาก็ใส่ให้เท่า ๆ กับกะละมังใบแรก  กะละมังใบแรกที่ใช้ก็จะนำไปทำความสะอาดครับ ตากแดดให้แห้ง พอเย็น ๆ ก็เอาน้ำใส่ไว้แล้วก็วางไว้ข้าง ๆ เพื่อให้อุณหภูมิเท่ากันในตอนเช้า ก็ย้ายปลามา   ผมก็ใช้หัวทราย 2 ชุดนะครับ สลับกัน คือผมก็เอาหัวทรายไปแช่น้ำด่างทับทิมก่อน แล้วก็ตากแดด คือประมาณว่าฆ่าเชื้อโรคออกไป แล้วก็บางทีก็ทำการล้างเมือกปลาไปด้วย ปลาป่วยนี่เมือกจะปล่อยออกมาเยอะ   วิธีนี้ก็ใช้ได้ผลดีครับง่ายดี แต่ก็ไม่สะดวกเราอยู่เหมือนกัน



การซื้อการหาปลามาเพิ่ม, สมาชิกใหม่
ปลาทองก็ควรเลี้ยงรวมกับปลาทองครับ ไม่ควรเลี้ยงปลาอื่นควบคู่กันไป ผมไม่แนะนำให้เลี้ยงปลาเทศบาล หรือปลาซัคเกอร์ด้วย เพราะผมคิดว่าระบบนิเวศน์ของเราเริ่มจะมีปัญหา เนื่องจากมีคนปล่อยมันลงสู่แม่น้ำลำธารตามธรรมชาติ แล้วเนื่องจากมันเป็นปลาที่อดทน และไม่มีศัตรูทางธรรมชาติมากนัก และขยายพันธุ์ได้รวดเร็วอีกต่างหาก มันจึงไปสร้างปัญหาให้กับปลาท้องถิ่นของเรา ทั้งแย่งอาหาร ทั้งกินไข่ กินปลาอ่อน ผมก็เลยขอคัดค้านการเลี้ยงปลาซัคเกอร์หรือปลาเทศบาลในบทความนี้ครับ

จริง ๆ แล้วมันก็มีความเข้าใจผิดอยู่เยอะกับปลาเทศบาล บ้างก็ว่าไว้ดูดขึ้ปลา แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้ดูดขี้ปลาหรอกครับมันก็คือปลาชนิดหนึ่ง ก็ต้องพยายามหาอาหารก้นตู้ ถ้าคนเลี้ยงใช้อาหารลอยมันก็จะเรียนรู้แล้วก็ลอยตัวมากินอาหาร  ในระบบการเลี้ยงของเราก็ไม่ได้ช่วยลดแอมโมเนียอย่างมีนัยยะสำคัญสักเท่าไหร่ด้วย เพียงแต่ว่ามันอึด คือถ้าเจอแอมโมเนียนี่ปลาทองไปก่อน ปลาเทศบาลอาจจะยังชิล ๆ อยู่

พอเราเริ่มเลี้ยงปลาไปได้สักพักเราก็อาจจะเริ่มอยากจะเลี้ยงเพิ่ม ก่อนจะเพิ่มจำนวนปลาต้องตั้งคำถามต่อไปนี้ครับ
  1. ถ้าจำนวนปลาเพิ่มขึ้นจะทำให้สมาชิกหนาแน่นเพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมไหม
  2. การกำจัดของเสียหล่ะ เราพร้อมแค่ไหน
สองข้อด้านบนก็เกี่ยวเนื่องกับบทความ สมมติว่าปลาเรา 4 ตัวกำลังพอดี ๆ กับระบบกรองของเราเลย คำว่าพอดีในความหมายของผมคือระบบกรองสามารถกำจัดของเสียในยามที่อากาศเย็น (คือในสถานการณ์เลวร้ายสุดของระบบเรา ... ดังที่กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้แล้ว ด้านบนนะครับ) ถ้าเราใส่เพิ่มไปแล้วทำให้เป็นปัญหาอันนี้ก็ไม่น่าจะเพิ่มสมาชิกของปลานะครับ

แต่สิ่งที่อยากจะโฟกัสอีกเรื่องหนึ่งก็คือโรคของปลาใหม่ สมัยก่อนผมซื้อปลามาผมก็ปล่อยลงตู้เลย แต่พอเริ่มมีปัญหาปลาตายบ้างอะไรบ้าง ก็มาคลุกคลีกับเรื่องโรคของปลา ทำให้เกิดความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น จนปัจจุบันนี้เวลาผมซื้อปลาใหม่มา ผมต้องกักโรคปลาไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ ถ้าพบว่าป่วยก็จะกักนานกว่าบางทีเป็นเดือน เป็นสองเดือน จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าสมาชิกใหม่ของเราจะไม่นำพาโรคใหม่เข้าสู่ระบบของเรา

อันนี้คือสิ่งที่ผมทำเมื่อได้ปลาทองมาใหม่ ซึ่งผมอาจจะโชคดีในโชคร้าย คือแถวบ้านผมก็จะมีร้านปลาทองร้านหนึ่งปลาร้านนี้ป่วยได้สม่ำเสมอ เวลาเจอตัวถูกใจผมก็จะซื้อมาแล้วก็มารักษาโรคทำให้ผมมีตัวยาสารพัดที่จะรักษาปลาทอง

อันดับแรกเลย ปรสิตภายนอก อันนี้จะสังเกตอาการปลาสักหนึ่งวัน หนึ่งคืนก่อน แถมอดอาหารด้วยเพราะจะเริ่มใช้ยา  ผมใช้ดิมิลิน


ดิมิลินค่อนข้างจะแรงครับใช้ไม่มาก ประมาณ 3 - 4 ช้อน (ช้อนชงกาแฟในรูป) ต่อน้ำ 15 - 20 ลิตร อันนี้จะช่วยฆ่าเห็บระฆัง หนอนสมอ ได้ผลดีมากครับ แต่ยาก็แรงมากเช่นเดียวกัน ใส่ไปแล้วถ้าอยู่ในปริมาณที่ไม่มากเกินไปปลาจะดูตื่น ๆ นิด ๆ ถ้ายิ่งมากปลาเหมือนจะคันเหงือก คันตัวจะกระสับกระส่ายมาก นั่นแปลว่ามากไปแล้ว

ดิมิลินจะแพ้แสงโดนแสงจะสลายตัวนะครับเวลาผมใส่ผมก็จะใส่ตอนกลางคืน แล้วก็ทิ้งปลาไว้ ถ้ามือใหม่ก็แนะนำให้สังเกตอาการปลาอย่างใกล้ชิดตอนใส่นะครับ ซื้อมากระปุกเดียวใช้ได้เป็นชาติเลยครับ ใช้แต่ละครั้งน้อยมาก ประกอบกับผมก็ไม่ได้ซื้อปลาทองบ่อย

พอวันรุ่งขึ้นผมก็จะมากำจัดภัยเงียบครับ ก็คือปลิงใส ก่อนหน้านั้นผมก็จะต้องเปลี่ยนน้ำใหม่หมดครับ โดยผมจะเตรียมน้ำไว้ใส่กะละมังแล้ววางไว้ข้าง ๆ กัน ตั้งแต่เมื่อคืนเพื่อให้น้ำอุณหภูมิเท่ากันในตอนสาย ๆ ผมก็ย้ายปลามาใส่กะละมังใหม่ได้เลย

การกำจัดปลิงใสผมเลือกใช้ยา Praziquantel ครับ แพงอยู่เหมือนกันแต่ไม่ออกฤทธิ์กับปลา แต่กับปลิงใสนี่ได้ผลดีครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าได้ผลดีขนาดไหนเพราะการจะดูเจ้าปลิงใสตายนี่คงต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ แถมอาการติดปลิงใสนี่ไม่แสดงอาการอีก การใช้ Prazi ก็เลยเหมือนกับเป็นการใช้เพื่อป้องกัน คือไม่สนว่ามีหรือไม่มี ไม่มีก็ไม่เป็นไร มีก็กำจัดออกไปเสีย

ปลาที่มีปลิงใสอาศัยอยู่ อาการของโรคจะไม่แสดงออกอย่างเด่นชัด แต่ก็จะมีแนวโน้มที่จะทำให้ปลาป่วยเป็นโรคเสียการทรงตัวอันเนื่องมาจากการอักเสบของถุงลมภายในได้ (อันนี้ยังเป็นสมมติฐานยังไม่มีข้อพิสูจน์อะไรมากนักนะครับ เพราะอาการของโรคนั้นกว่าจะแสดงออกมามันใช้เวลานานมาก แล้วผมก็ไม่มีเครื่องมือ และความรู้ที่จะตรวจพิสูจน์สมมติฐานนี้ได้อีกต่างหาก)  ยาอันนี้แพงหน่อยแต่ก็ใช้ได้เป็นชาติเช่นเดียวกัน

Praziquantel จะละลายน้ำค่อนข้างยาก แต่ก็ละลายครับ อดทนรอหน่อยก็ละลายไปหมดได้ บางทีอาจจะต้องละลายยาใส่ขวดแล้วทำโคอาล่ามาร์ชเชค เขย่า ๆ ๆ อยู่นานมากกว่าจะละลายแล้วค่อยให้ปลา  ในเน็ตบางทีใช้อะไรต่อมิอะไรมาละลายผมไม่ค่อยกล้านะ  อาศัยเขย่าเอาดีกว่า  เมื่อดูจากสรรพคุณก็เหมือนจะไปซ้อนทับกับดิมิลิน  แต่ดิมิลินฆ่าปลิงใสไม่ได้นะครับ แต่ก็เป็นยาสองตัวที่อยากจะแนะนำให้ใช้ (ไม่ได้ค่าโฆษณา อีกต่างหาก) คือผมก็ใช้แหล่ะครับ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาทองเจ็บไข้ได้ป่วย  สามารถใส่ลงในตู้ได้ด้วยครับไม่ทำลายแบคทีเรีย ไม่ทำให้ระบบกรองล่ม

จากนั้นก็เว้นสัก 1 วันแล้วก็วนลูป ทำแบบนี้ 3 รอบครับ คือถ้าปลาซื้อมาป่วย ๆ อยู่ ถ้าอยู่รอดได้ พอพ้นรอบแรกแล้วก็เช็คอาการแล้วร่าเริง ก็อาจจะมีให้อาหารบ้างนิดหน่อยพอ เพราะเดี๋ยวก็ต้องวนใส่ยาอีก การให้อาหารน้อย ๆ เพื่อเพิ่มความอึดให้กับปลาทอง จะได้ทนฤทธิ์ยาได้ เผื่อกรณีเติมหนักมือไปบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ  บางทีเราได้ปลาจากร้านมาดูแข็งแรงดี พอมาอยู่กับเราแล้วก็ไม่ร่าเริงอันนี้ก็ต้องมาวิเคราะห์กันครับว่าทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง

ผมเคยเจออยู่ตัวหนึ่งป่วยมา ตอนป่วยนี่ว่ายน้ำเยอะมากเพราะมันคัน โดนพวกปรสิตเกาะตามตัว พอรักษาปรสิตหาย กลับซึมไม่ว่ายน้ำ แต่ตอนหลังสังเกตุดูก็ไม่มีอะไรแล้ว แต่ไม่ร่าเริงมากนัก ซึ่งเป็นนิสัยส่วนตัวของเขาอันนี้ก็สังเกตยากอยู่เหมือนกัน เลยโดนกักโรคไป 2 เดือน แต่โดยมากปลาทองก็จะร่าเริงแจ่มใสนั่นแหล่ะครับ

การจะใส่สิ่งของอื่น ๆ ลงไปเช่นพวกไม้น้ำจริง ต้นไม้จริง อะไรพวกนี้ก็ต้องระมัดระวังเหมือนกันครับ เพราะบางทีเราใส่ต้นไม้มีหอย มีปรสิต หรือไข่ของปรสิตติดไปด้วย พอมาลงตู้เราปลาก็เป็นโรคปรสิตไปโดยปริยาย เป็นไปได้ก็อยากให้ใส่ต้นไม้ปลอมมากกว่า บางทีต้นไม้หรือภาชนะต่าง ๆ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำพาโรคภัยไข้เจ็บมาสู่ปลาทองเราได้เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้ปลาป่วยเร็ว ตายเร็ว เหมือนสารพิษอย่างแอมโมเนีย และไนไตรต์ ก็ตาม แต่โรคพวกนี้ส่วนมากก็ไม่ค่อยแสดงอาการจึงไม่ค่อยมีข้อมูลที่แน่ชัดนัก แล้วถ้าป่วยแล้วมันก็รักษายากอย่างพวกโรคถุงลม โรคเสียการทรงตัวอะไรทำนองนี้ ดังนั้นถ้าอยากจะเลี้ยงปลาทองให้อยู่กับเรานาน ๆ ก็ต้องระมัดระวังให้มากครับ


ไปถึงกันหรือยังอายุปลาทอง 8 ปี ?  


บทสรุป
ในบทความนี้จะเน้นในเรื่องของการควบคุมแอมโมเนียที่เกิดขึ้นในระบบเลี้ยงปลาทองของเรา ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม  ถ้าควบคุมได้ผมเชื่อว่าปลาก็จะไม่ป่วยเพราะพิษแอมโมเนีย  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลาทองจะไม่ตายนะครับ เพราะอาการป่วยของปลาทองนั้นก็ยังมีอีกหลาย ๆ สาเหตุ   ผมเขียนบทความตรงนี้เพราะเห็นว่าปลาทองนั้นส่วนใหญ่ปัญหาที่ป่วยที่ตายมาจากพิษแอมโมเนียเสียมาก ถ้าผู้ที่รักในการเลี้ยงปลาทองรู้ความลับของน้ำตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าในตู้ปลาจะต้องมีปลาทองที่อายุเป็น 1 - 2 ปีติดตู้กันบ้างหล่ะ แถมยังสดใสร่าเริงได้ตลอดเวลาอีกด้วย เมื่อปลาร่าเริงคนเลี้ยงก็มีความสุข

ส่วนใครที่เข้ามาอ่านแล้วถูกใจอย่าลืมคอมเม้นต์ด้านล่างยังว่างอยู่นะครับแสดงความคิดเห็นมาได้ ใครที่มีอะไรอยากจะเสริมช่วยเสริมผมด้วย ผมก็ยอมรับว่าผมก็เรียนรู้จากการเลี้ยง เรียนก็เปิดเน็ตเอา ทำการทดลองจริงให้เห็นกับตา แล้วก็เอามาบอกเล่าต่ออีกทอดหนึ่ง มันอาจจะไม่ได้เป็นบทความที่เรียกได้ว่าถูกต้องตามนั้น ก็คือไม่ได้คิดว่าบทความนี้จะถูกต้องไปเสียทั้งหมดแบบไร้ที่ติ แต่ผมก็เชื่อว่าบทความของผมจะยังประโยชน์ให้กับคนที่รักการเลี้ยงปลาทองเหมือน ๆ กัน ได้เข้าใจ ได้เก็บรักษาปลาที่ตัวเองรักไว้ได้นานยิ่งขึ้น ก็หวังว่าจะไม่ทำให้ปลาทองขายออกจากฟาร์มยากขึ้น ผมเชื่อว่าใคร ๆ ที่ได้ไปเดินร้านขายปลา ผมว่าปลาทองนี่น่ารักน่าเลี้ยงสุดละ บางตัวหน้าอย่างกับตุ๊กตา

ขอให้สนุกกับการเลี้ยงปลาทองนะครับ :)



ช่วง...อัพเดทความรู้ที่ได้มาจากการเลี้ยงที่ผ่านมา


16 กุมภาพันธ์ 2560

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้มีแต่เรื่องครับ คือปลาผมป่วยครับ ผมก็งงครับว่าทำไมปลาซึมได้ไง เราก็ทำถูกหลักการเกือบหมดแล้วนี่หน่า  กรองก็ดูไม่สกปรก (แต่ก็แอบคิดนิดหนึ่งคือวันที่ล้างกรองครั้งสุดท้ายคือ 19 สิงหาคม 2559  จะเป็นสาเหตุของปัญหาหรือเปล่า)  ก็เทสต์น้ำดูครับ ผลปรากฎว่าแอมโมเนียพุ่งปรี๊ดแบบผลเทสต์นี่คือเขียวเข้มเลย  ผมก็คิดว่ามาได้ไงแอมโมเนียระดับนี้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะอาหารการเปลี่ยนน้ำก็เท่าเดิม และสม่ำเสมอตลอด ผมต้องใช้น้ำปลาทองไปรดน้ำพวกบรรดาดอกไม้ของผม ก็จึงไม่ค่อยเว้นที่จะได้ถ่ายน้ำอยู่แล้ว

นึกขึ้นได้คือช่วงที่ฝนตกหนัก ๆ อากาศเย็น ๆ (ประมาณช่วงปลายเดือนตุลา ต้นเดือนพฤศจิกา)  ผมเอาหินซีโอไลต์ใส่ไปถุงหนึ่ง ประมาณ 1 กิโลกรัม หวังเพื่อจะให้มันดักสารพิษ เพราะช่วงนั้นไม่ได้รดน้ำต้นไม้ เพราะฝนตกบ่อย และถี่มาก ๆ แล้วลืมเอาออก  ผมคิดว่ามันเกิดจากการใช้หินซีโอไลต์คายแอมโมเนียนะครับ  อย่างไรก็ฝากคนที่ใช้หินนี้อยู่ให้ระมัดระวังนะครับ  จริง ๆ ผมก็เคยอ่านเจอแต่ลืมไปเลยว่าหินซีโอไลต์ใส่ถุงผ้าโยนไว้ที่ปั๊มน้ำ ซึ่งถ้าไม่ล้างกรองนี่ไม่มีทางมองเห็นได้เลย ขนาดล้วงยังล้วงยากเลย ผมโยนถุงตาข่ายที่ใส่ซีโอไลต์นี้ไว้ราว ๆ ต้นเดือน พฤศจิกายน 2559 นะครับ

ผลก็คือปลาทองตายไปสองตัวใหญ่ หนึ่งตัวเล็ก ครับ เสียดายมาก ๆ เลยครับ ว่าจะลองเลี้ยงให้อายุยืนนานสักหน่อย



25 มีนาคม 2560

จากความสงสัยในเรื่องของการใช้หินซีโอไลต์ในการใช้เพื่อดูดแอมโมเนีย ตอนแรกผมตัดใจไปแล้วนะคือคาดเดาว่ามันไม่ดูด แต่ไปดูวีดีโอหนึ่งของมหิดลที่มีหมอมาแนะนำ เห็นว่าเขาแนะนำให้ใช้กรองที่เป็นกรองกระปุกแล้วถอดล้างทำความสะอาด เปลี่ยนหินซีโอไลต์ มันทำให้ผมร้องเอ๊ะขึ้นมาอีกครั้ง ก็เลยไปถอยมาชุดใหญ่เลย 5 กระปุก คือเริ่มมีความเชื่อว่ามันจะใช้งานได้อีกครั้ง แทนที่กรองฟองน้ำ



แล้วบังเอิญว่าก็ได้ปลาใหม่มาสามตัว จาก 2 ร้าน ซึ่งก็เป็นปลาป่วย ขนาดปลาก็ 3 นิ้ว 2 ตัว กับ 2.5 นิ้ว ตัวหนึ่ง ก็เลยได้ทดลองใช้เลยครับ

วิธีการก็คือผมจะถอดเอาหินที่อยู่ด้านล่างกรองเปลี่ยนเป็นหินซีโอไลต์ที่ซื้อมาพร้อมกับกรองกระปุกในรูปนี่แหล่ะครับ เพื่อที่จะทำให้ใกล้เคียงกับเขาที่สุด ผมเองก็ด้วยที่มีความหวังก็คือมันน่าจะดูดแอมโมเนียได้จริง ก็เลยแกะกรองกระปุก เปลี่ยนหินเป็นซีโอไลต์เต็ม ๆ ผมทำไว้ 2 อันเลย


การทดลองผมก็คือผมก็จะเริ่มวัดค่าของแอมโมเนียตอนเริ่มต้น ก็คือปกติครับผลออกมาเป็นสีเหลืองใส ๆ นั่นก็คือเรียกได้ว่าความเข้มข้นของแอมโมเนียราว ๆ 0 ppm นั่นแปลว่าดีครับ  น้ำที่ใช้ในการทดลองคราวนี้คือ 20 ลิตร

ปลาก็ร่าเริงดีครับในช่วงแรก เหมือนจะชอบกรองกระปุก น้ำก็ใส ผ่านไป 24 ชั่วโมงผมวัดค่าน้ำใหม่กลายเป็นสีเขียวครับ นั่นแปลว่าแอมโมเนียขยับขึ้นอยู่ในเขตอันตรายแล้วครับ ปลามีอาการดร็อปลงเล็กน้อยครับ คือก็ยังไม่นิ่ง แต่ก็บางจังหวะดูเหมือนไม่อยากว่ายน้ำ  ก็ทำการย้ายปลาไปอีกกะละมังหนึ่งครับ เพราะถ้าปล่อยไว้ปลาจะอันตรายแน่นอน กับระดับแอมโมเนียขนาดนี้

แล้วผมก็เปิดระบบไว้แบบนั้นต่ออีก 24 ชั่วโมงโดยไม่มีปลาเลยสักตัว พบว่าระดับแอมโมเนียก็ไม่ได้ลดลงไปเลยครับ นั่นแปลว่าหินซีโอไลต์ที่ผมซื้อมานั้น (ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่ามันเป็นของจริง ของปลอม หรือซีโอไลต์เกรดไหน แต่ก็เห็นเขามีฉลากบอกว่าของเขาของแท้ ดูดแอมโมเนีย ของเสียได้หมด หรืออาจจะเป็นเพราะผมยังใช้ไม่ถูก เงื่อนไขไม่ครบหรือเปล่า) ก็ไม่อาจจะตอบโจทย์เรื่องการใช้มารักษาปลา หรือกักโรคปลาได้ เพราะปลาทองที่มีชีวิตอยู่นี้สร้างของเสียได้เยอะมากจนน่าตกใจเลยครับ คือจริง ๆ ผมก็ไม่ได้ให้อาหารด้วยซ้ำ แล้วแอมโมเนียมาจากไหน จากความเข้าใจตอนแรกคือแอมโมเนียมาจากของเสียที่ย่อยสลายกลายเป็นแอมโมเนีย  แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วแค่มีปลาทอง ไม่ต้องมีของเสีย ก็สามารถเพิ่มระดับแอมโมเนียได้อย่างน่าตกใจ

จากการทดลองเรื่องนี้นอกจากจะดับความฝันเรื่องการใช้หินซีโอไลต์ (ซึ่งผมซื้อมาเยอะเสียด้วย 3 กิโลแหน่ะ) มาใช้ลดแอมโมเนียแล้ว ก็ได้ความรู้อีกเรื่องหนึ่งคือการกักปลา และการรักษาปลานั้น จะต้องคำนึงถึงขนาดของตัวปลาทอง และจำนวนของปลาทองด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำ เพราะถ้าเราใช้น้ำน้อยเกินไป ระดับแอมโมเนียจะพุ่งสูงขึ้นจนถึงระดับทำอันตรายได้อย่างรวดเร็ว (เพราะน้ำน้อยการมีแอมโมเนียเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ความเข้มข้นของแอมโมเนียวิ่งไต่ระดับไปได้รวดเร็ว) นั่นแปลว่าเราจะประสบปัญหาแน่นอนในขั้นตอนของการรักษา หรือการกักโรคได้

จากการทดลองเบื้องต้นพบว่า ถ้าเป็นปลาขนาด 2.5 นิ้ว น้ำ 20 ลิตร จะอยู่ได้สบาย ๆ ถึง 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นปลาขนาด 3.5 นิ้ว ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ปลาจะเริ่มซึมแล้ว จึงนำมาสู่ข้อสรุปว่าถ้าจะรักษาปลา ต้องมีการหมุนเวียนน้ำให้ดีให้เหมาะสม เช่นถ้าเป็นปลา 3.5 นิ้ว มาป่วยแล้วจะใช้น้ำรักษา 20 ลิตร อาจจะต้องเปลี่ยนน้ำเช้า 50% เย็น 50%  แต่ถ้าเป็นปลาเล็กหน่อย 2.5 นิ้ว อาจจะ 50% เวลาเดียวก็ได้ ก็ยังพอน่าจะไหวอยู่  และถ้าเพิ่มน้ำให้มากกว่า 20 ลิตร ก็จะสามารถทำการกักโรคหรือรักษาได้สบายขึ้น ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย ๆ (แต่ถึงกระนั้นก็ต้องเปลี่ยนถ่ายบ้าง)  เพื่อรักษาคุณภาพน้ำ ป้องกันไม่ให้ปลาโดนแอมโมเนีย จนซึม จนมีปัญหา ได้อีก

หรืออาจจะจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงแบคทีเรียไว้ในระบบบ้างเพื่อให้มาลดแอมโมเนีย และไนไตรต์ลง เพื่อไม่ให้เปลี่ยนน้ำบ่อยเกินไป การเปลี่ยนน้ำบ่อยนี้นอกจากจะพบปัญหาเรื่องของคลอรีนแล้ว (คือสำหรับคนในเมืองที่ไม่มีเครื่องกรองน้ำ การจะหาน้ำปริมาณเยอะ ๆ ที่ปราศจากคลอรีนนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยาก)







วันที่ 25 เมษายน 2560

เมื่อวันที่ 12 เมษา ก่อนสงกรานต์วันหนึ่งผมเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาที่จะทำระบบที่ใช้ในการพักรักษาปลา โดยที่โจทย์ของผมก็คือผมอยากได้น้ำเยอะ ๆ คือที่ใช้อยู่ 30 ลิตร มันไม่ตอบโจทย์กรณีของปลาตัวใหญ่ ดังนั้นภาชนะที่จะใช้จะต้องมีความจุมากกว่า 30 แต่ต้องไม่ออกในแนวลึก จริง ๆ ผมก็มีอยู่ในใจแล้วคือ เป็นกะบะผสมปูน ที่ชอบโฆษณาว่ารถเหยียบไม่แตก



วันที่ 27 ตุลาคม 2561
ผมได้ทำการเพิ่มเติมความรู้ที่ค้นพบใหม่ ๆ ในลิงค์ด้านล่างนี้นะครับ  ถ้าสนใจที่จะไประดับยากขึ้นอีกก็อยากจะให้เข้าไปชมกันนะครับ คลิ๊กเลยครับ

เทคนิคการเลี้ยงปลาทองประจำปี 2561 : Advance


คำค้นหาเพื่อประโยชน์
Keyword :
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
เคล็ดลับการเลี้ยงปลาทอง เทคนิคการเลี้ยงปลาทอง ปลาทองป่วย ปลาทองตาย ปลาทองซึม ไม่ว่ายน้ำ การเลี้ยงปลาทอง เลี้ยงปลาทองอย่างไร ทำไมปลาทองตาย เลี้ยงปลาทองอย่างไร ปลาทองรอด ปลาทองไม่รอด สูตรลับการเลี้ยงปลาทอง เจาะลึกการเลี้ยงปลาทอง เบื้องลึกเลี้ยงปลาทอง ตีแผ่การเลี้ยงปลาทอง อะไรอยู่น้ำ เลี้ยงปลาทองแล้วตาย เลิกเลี้ยงปลาทอง ทำไมเลี้ยงปลาทองไม่รอด ปลาทองตาย ปลาทองกลับบ้านเก่า ลาก่อนปลาทอง ไนโตรเจนไซเคิล แอมโมเนีย ไนไตรต์ ไนเตรต เคมีที่เกิดขึ้นในน้ำ การเตรียมตัวเลี้ยงปลาทอง เริ่มเลี้ยงปลาทอง เริ่มเลี้ยงปลาทองอย่างไร เคมีที่เกิดขึ้นในน้ำ