วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 1 การลง Turbo C++ 3.0, Borland C 3.0 มารู้จัก มาเริ่มต้นด้วย Turbo C 3.0 DOS

บทที่ 1 เริ่มติดตั้งเครื่องมือที่จะใช้ในการเรียนเขียนโปรแกรมกันก่อน

ในที่นี้ผมจะอ้างอิงคำสั่งหรือโค้ดจากการใช้เครื่องมือการเขียนโปรแกรมที่เรียกว่า Turbo C ซึ่งมันเป็นตัว Editor ที่ค่อนข้างจะเก่ามาก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ  ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็น DOS (Disk Operating System) นั่นแหล่ะ สมัยนั้นเปิดเครื่องมาเราก็จะได้หน้าจอสีดำพร้อมกับเครื่อง  A:\> (อันนี้ก็เก่าไปหรือเปล่า สมัยก่อนเครื่องคอมพ์จะไม่มี Hard Disk มานะครับ สมัยโน้นเลยจอยังเป็นตัวอักษรสีเขียว พื้นสีดำ ไม่มีกราฟฟิคใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่อยากจะบอกว่าเม้าส์ยังไม่มีเลย)  พอถัดมา Hard Disk เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเวลาบูทเครื่องเสร็จปุ๊บ เราก็จะได้เครื่องหมาย C:\> หน้าตาประมาณดังรูปแต่มันจะเป็นแบบ Full Screen เลย

เราเรียก Command Console ในสมัยก่อนว่า ซี พร้อมพ์ (C Prompt) หน้าที่เราก็คือพิมพ์คำสั่งลงไป
แต่ในสมัยนี้บูทเครื่องขึ้นมาหน้าจอจะเป็น Graphical เราสามารถสั่งงานได้ด้วยการคลิ๊ก สมัยก่อนเม้าส์ไม่มีก็จะเป็น
ระบบสั่งงานด้วยคำสั่ง คือใช้คีย์บอร์ดพิมพ์คำสั่ง ลงไป

พอจะเข้า windows ซึ่งตอนนั้นก็ Windows 3.11 ก็พิมพ์ไปเลยครับว่า win  อันนี้ย้อนความหลังไปไกลหน่อย อิอิ ไม่ว่ากันนะ  สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เครื่องต้องเริ่มใส่ Hard Disk ในยุคนั้นผมว่าโดยหลัก ๆ เลยก็คือเจ้าโปรแกรม Window 3.11 นี่แหล่ะ ซึ่งภายหลังก็วิวัฒนาการเป็น OS (Operating System) ก็คือ Windows 98 > Windows Me > Windows XP > Windows Vista > Windows 7 > Windows 8 ในปัจจุบัน

Windows 3.11 มันไม่สามารถที่จะเรียก หรือเปิดจากแผ่นได้แล้วเพราะขนาดมันใหญ่กว่า 1.44 Mega Byte  สมัยนั้น Hard Drive ขนาด 100 MฺB ก็เรียกได้ว่าเยอะมากเลย  สมัยก่อนไม่มีอินเตอร์เน็ต การจะหา software อะไรทีนั้นทำอย่างไร ?  ก็สั่งซื้อทางไปรษณีย์ไงครับ  ผมจำได้เลือนลางว่ามันจะมี catalog เป็นกระดาษมาเลยนะ จำชื่อไม่ได้แล้วว่าเขาเรียกชื่อว่าอะไร นั่นคือที่มาสำหรับการหา software ในสมัยนั้น สมัยที่ซึ่งมีแต่แผ่น Floppy ได้มาแผ่นหนึ่งก็ DiskCopy A: B: , DiskCopy A: A: กันใหญ่เลยทีเดียว บางเครื่องมี Drive เดียว ต้องใส่แผ่น Source ลงไปก่อน เครื่องก็จะอ่านข้อมูลจากแผ่นตั้งแต่ sector แรก ไปเก็บไว้ที่ Memory แล้วมันจะให้ใส่ Destination Disk ทำวน ไปวน มาจนเสร็จ จำนวนรอบของการชักแผ่นเข้า แผ่นออก ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของ Memory ในเครื่องนั้นเลยหล่ะ จำได้ว่าเครื่องสมัยนั้นจอเขียว แรม 2 MB นี่ก็เทพแล้ว ฮ่า ๆ ๆ (เวลามันผ่านไปไวจริงน้อ ....)  ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขียนโปรแกรมหรอก แค่อยากเล่าประสบการณ์วัยเด็กให้ฟังหน่ะนะ อิอิ

ผมขอเรียกไอ้หน้าจอดำ ๆ ข้างบนนั้นว่า Command Console ซึ่งสามารถเรียกได้จาก Start > Accessories > Command Prompt

วิธีการเปิด Command Console จาก Windows XP

ซึ่งใน Windows ใหม่ ๆ หรือถ้าหาไม่เจอ เราสามารถสั่งจาก run command ได้

หน้าจอนี้เราสามารถกดแป้นลัดของ windows ได้ด้วยการกด คีย์ window + R
(คีย์ windows ก็คือปุ่มบนคีย์บอร์ดที่มีโลโก้ windows --- เวลากดให้กด window key ค้างไว้ แล้วกด R ไม่ต้องกด shift + R เพื่อให้ได้ตัวพิมพ์ใหญ่นะ กดแป้น R ลงไปตรง ๆ เลย, ปล่อย R, ปล่อย windows key)
พอเข้าหน้าต่าง Run (การเข้าหน้าต่าง Run กดแป้นคีย์บอร์ดง่ายที่สุดแล้วนะผมว่า โดยการกด คีย์ windows + R)  แล้วพิมพ์คำว่า cmd แล้วกด Enter ก็จะได้ Command Prompt มาสมใจ.

จากนี้เราพักเรื่อง Command Console ก่อนนะครับ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------

ทีนี้เราก็ไปหาโปรแกรม Turbo C มาลง การลงนั้นง่ายมาก โดยมากแล้วเราจะเจอกันในรูปแบบของ .zip หรือพวก .rar พวก Compress Files เราก็แตกไฟล์ออกมา  โดยปกติแล้วไฟล์ที่แจก ๆ กันมานั้น การตั้งค่าของ Turbo C แรกเริ่มมักจะเป็นการตั้งค่าในรูปแบบให้ทำงานอยู่ใน Drive C นะครับ

อันนี้ผมได้ไฟล์เป็นแบบ self extractor ก็คือไฟล์ที่แตกออกมาได้โดยที่ระบบ windows ไม่ต้องติดตั้ง
โปรแกรม WinZip หรือ WinRAR
ถ้าไม่มีไฟล์ตามไป Download มาได้ที่  ผมอัพโหลดไว้ให้ที่ 4Share แล้วนะครับคลิ๊กได้เลย
Download Turbo C.exe


อย่าลืมว่าในเบื้องต้นอยากจะให้แตกไฟล์ไว้ที่ Drive C ก่อนนะครับ
หัวใจสำคัญก็คือมี folder ชื่อ TC อยู่ใน Drive C นะครับ
จากนั้นให้เราเข้าสู่ Command Console อีกครั้งหนึ่ง (วิธีเข้า .... ลืมไปแล้วก็ ย้อนกลับไปดูด้านบนนะครับ)

เมื่อเข้ามาหน้าจอของ Command Console แล้วให้พิมพ์คำสั่ง cd\tc (ซีดีแบ็คสแลชทีซี) จากนั้นกด Enter
หลังจากหน้าต่างของ Command Console เปิดขึ้นมาแล้วก็ให้พิมพ์คำสั่ง cd\tc  ซึ่งคำสั่ง cd นั้นย่อมาจาก คำว่า Change Directory เครื่องหมาย \ (Back Slash) แทน root Directory ของ Drive ปัจจุบันครับ ก็คือ root ของ Drive C นั่นเอง แล้วก็เลือก Directory คือ TC  เนื่องจากในระบบปฏิบัติการของ windows นั้นไม่ได้เป็น case-sensitive ก็ทำให้การพิมพ์ตัวพิมพ์ใหญ่ หรือพิมพ์เล็กนั้นมีค่าเท่ากันครับ จะพิมพ์ใหญ่ก็ได้หรือจะพิมพ์เล็กก็ได้เช่นเดียวกัน

คำว่า Directory ก็คือ Folder นั่นแหล่ะ แสดงด้วย Icon รูปแฟ้มเฉย ๆ  การทำคำสั่งด้วยคีย์บอร์ดนั้นมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือสามารถสั่งงานได้ทีละหลาย ๆ คำสั่ง ไม่ต้องพึ่ง UI (User Interface) พูดง่าย ๆ ก็คือ เหมือนกับเลือกเส้นทางในการทำงานต่างกันแต่ก็ได้ผลเหมือนกัน

สรุปง่าย ๆ เลยก็คือพวก command พวกนี้ก็จะมีลักษณะเป็นคำสั่งที่เราใช้ป้อนด้วยคีย์บอร์ด แทนที่เราจะป้อนข้อมูลด้วยการลากเมาส์ไปคลิ๊ก ๆ ที่ folder นั่นแล

จากนั้นก็เข้าไปใน Directory อีกตัวหนึ่งก็คือ bin เข้าได้โดยการพิมพ์ cd bin ซึ่งอันนี้จะเป็นการเข้าโฟลเดอร์ ที่อยู่ใน folder ปัจจุบัน (C:\TC) ที่ไม่มี \ (Back Slash) เพราะว่าเราไม่ได้เข้า folder bin ที่อยู่ใน root แต่เราเข้า folder bin จาก C:\TC นะ  พิมพ์คำสั่งแล้วกด enter ด้วยนะครับ

ที่ซึ่งจะมีตัวรันเป็นตัว editor อยู่ และยังมีไฟล์ที่สำคัญอื่น ๆ ด้วยเช่นพวก compiler , linker
สั่งเรียกตัว Editor ด้วยคำสั่ง TC

Command Dialog ของเราก็จะไปเรียกตัวที่ทำหน้าที่เป็น IDE ขึ้นมา  ...... คำว่า IDE ย่อมาจาก Integrated Development Environment

คือขอท้าวความไปถึงการเขียนโปรแกรมในสมัยก่อน ๆ นี้ว่า หรือบางทีคนที่เขียนโปรแกรมบน linux คือเวลาเราทำงานด้านการเขียนโปรแกรมนั้นเราจะมีขั้นตอนหลัก ๆ อยู่ก็คือ

1. สร้างไฟล์ซอร์สโค้ด (Source Code) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วกระบวนการนี้ก็คือสร้างไฟล์ที่เก็บข้อความนั่นแหล่ะ เป็นชนิด Text File (การเป็น Text File ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องมีส่วนขยาย-File Extension เป็น .txt นะครับ แต่เราดูกันที่เนื้อหา การเข้ารหัสของไฟล์ว่าเข้ารหัสแบบไหนไว้ Text File ถือว่าเป็นไฟล์ที่ค่อนข้างจะ simple ที่สุดแล้วหล่ะครับ หมายถึง รูปแบบการจัดเก็บง่าย เก็บภาษาที่มนุษย์สามารถอ่านออกได้โดยที่ไม่ต้องไปแปลความหมายอะไรเพิ่ม ประมาณเปิดมา มนุษย์ก็อ่านได้เลย โดยเฉพาะผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษนะครับ)

2. นำไฟล์ Source โค้ดที่ได้จาก ขั้นตอนแรก ไปทำการ Compile การ Compile หมายถึง การตรวจโดยใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Compiler ว่าเขียนคำสั่งใน Source Code นั้นได้ถูกต้องหรือไม่ มีผิดตรงไหนไหม โดยมากแล้ว Compiler ก็จะเหมือนเครื่องมือในการตีความคำสั่งต่าง ๆ ที่อยู่ใน Source Code นั่นแหล่ะ เป็นการตรวจ โครงสร้างของคำสั่ง อะไรพวกนี้ ซึ่งบางทีมนุษย์เราก็จะพิมพ์ผิดบ้าง ผิดหลักบ้าง เหมือนเด็ก ๆ ที่พูดสลับกันคือถ้าเราคุยกับมนุษย์ด้วยกัน เจอคนพูดผิดหรือสลับ เราก็ยังพอจะรู้ความหมาย แต่การทำงานกับคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องเป๊ะ ๆ ตามแบบแผนที่เขาวางเอาไว้เลยครับ ถ้าพิมพ์อะไรก็ได้อย่างที่อยากพิมพ์ ก็จะไม่สามารถผ่านขั้นตอนการ Compile นี้ไปได้  อะไรประมาณนี้

แบบแผนที่เขาวางเอาไว้ก็หมายถึงเช่น เรากำลังเขียนภาษาซี เราก็จะต้องมีการเขียนให้ถูกต้องตามโครงสร้างของเขาเช่น จบคำสั่งต้องปิดด้วยเครื่อง ; (semi colon) นั่นก็ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของแต่ละภาษา  เหมือนถ้าเราจะพูดภาษาไทย คำว่า ลูกบอลสีแดง ก็เท่ากับคำว่า Red Ball ไม่ใช่ Ball Red แบบนี้เป็นต้น

3. นำไฟล์ที่ได้จากข้อ 2 ไปทำ link เพื่อทำให้เป็น executable file ไฟล์ที่สามารถที่จะทำงานได้ ก็ต้องเป็นไฟล์ที่สามารถ executable ได้  ดังนั้นเราจะเห็นผลลัพธ์ของขั้นตอนที่ 1 ก็ในขั้นตอนนี้ โปรแกรมจะรันได้ถูกต้องตามความต้องการ ตามโจทย์ที่กำหนดให้หรือไม่ ก็จะได้เห็นในขั้นตอนนี้

ซึ่งการเป็น IDE ก็คือการรวมขั้นตอนทั้งสามข้อมาอยู่ที่เดียวกัน เรียกได้ว่าเป็น one stop service เลย ที่เดียวทำได้ทุกอย่างประมาณนั้น เหมือนที่หน่วยราชการของเราก็พยายามทำกันมานานแล้ว ไม่ต้องวิ่งไปแจ้งความที่โรงพัก เอาบันทึกประจำวันจากโรงพักไปอำเภอ ไปทำบัตรใหม่ อะไรพวกนี้ แล้วทำไมจุดรับแจ้งทำบัตรหายถึงไม่อยู่ที่ใดที่หนึ่ง ทำปุ๊บออกบัตรได้เลย ประมาณนั้นแล ความหมายของ IDE - Integrated Development Environment

หน้าตาของ Turbo C++
อันนี้คือหน้าตาของ Turbo C จะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าหน้าตาจะมีสีสรรสวยงาม แต่ว่า ณ จุดนี้ ดังรูปก็ยังเรียกว่าเป็น Text Mode อยู่ดี  ปกติแล้วก็สามารถใช้เมาส์ได้ แต่ว่าผมจะอิงกับคีย์บอร์ดควบคู่กันไปนะครับ

สำหรับการใช้งานก็อาจจะยุ่งยากสักเล็กน้อยสำหรับเด็กที่เกิดไม่ทัน DOS นะครับ แต่ในสมัยนั้นนี่ถือว่าเยี่ยมมากแล้วหล่ะนะ ลองใช้คำสั่ง Help > About ดู สำหรับคีย์บอร์ดก็กดแป้น Alt + H (หมายถึง กดแป้น Alt ค้างไว้ แล้วกดปุ่ม h, ปล่อย h, ปล่อย Alt) แล้วใช้ cursor  key เลื่อนไปที่ About ดู

หน้าจอของ Help > About
ก็จะเห็นได้ว่าตามนั้น แหล่ะก็ตั้งแต่ปี 1990 1992 บางคนยังไม่เกิดเลยใช่ไหมหล่ะ ?  ซึ่งปัจจุบัน Turbo C นี้ก็ไม่มีลิขสิทธิ์แล้วหล่ะ โหลดได้ฟรี เล่นได้ฟรี จึงเป็นเครื่องมือที่นิยมมาใช้สอนน้อง ๆ ที่เรียน ปี 1 แต่หลาย ๆ ที่ก็เริ่มที่จะไม่ใช้แล้วหล่ะมั้ง อันนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

ข้อดีของ ภาษาซี คือมันจะไปคล้าย ๆ กับ พวก Java , PHP ซึ่งเป็นสองภาษาใหญ่ที่มีคนนิยมใช้กันเยอะ ดังนั้นเขียนภาษาซี ได้ไปเขียน Java ก็จะง่ายขึ้น หรือพอจะไปทำเว็บด้วย PHP เราก็จะเห็นว่า มันเขียนไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ มีกลิ่นคล้าย ๆ กัน

ข้อดีของ Turbo C ก็คือเราสามารถเขียน ภาษาซี แบบธรรมดาก็ได้ หรือจะเขียนแบบเชิงวัตถุหรือที่เรียกว่า Object Oriented Programming (OOP) ก็ได้  แต่บล็อกผมน่าจะอิงแบบ ซี ธรรมดา นะครับ ณ จุดนี้

อีกอย่างหนึ่งก็คือมันมี help ที่รวบรวมคำสั่งให้เราเปิดดูได้ด้วย อันนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เขียนโปรแกรมยังไม่ชำนาญ ยังงงอยู่ว่าคำสั่งนี้ใช้งานอย่างไง ไปที่ เมนู Help > Index

ศูนย์รวมคำสั่งต่าง ๆ ที่เราสามารถเข้าไปอ่านได้ อ่านวิธีการใช้งานของแต่ละคำสั่งได้

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำงานจะเป็นลักษณะของ MDI - Multiple Documents Interface ก็คือเปิดไฟล์ได้ทีละหลาย ๆ ไฟล์ เหมือนการทำงานเป็นแบบหน้าต่าง ซึ่งอันนี้ก็โคตรจะเท่ห์ในสมัยก่อน แต่เดี๋ยวนี้เชยบรม ฮ่า ๆ ๆ  มันก็ไม่ถึงกับเชยหรอกนะ ผมก็พูดเว่อร์ไปหน่อย แต่ว่ามันเป็นฟีเจอร์ (Feature) ที่ใคร ๆ ที่ทำโปรแกรมพวก Text Editor เขาก็มีกันทั้งนั้น ยกเว้น Notepad

เราสามารถปิดหน้าต่างได้ด้วยการคลิ๊กที่รูปสี่เหลี่ยมสีเหลืองที่อยู่ตรงมุมบนซ้าย อยู่แถว ๆ ด้านล่างของคำว่าไฟล์เห็นไหม ? หรือจะกดแป้น ESC ก็ได้

ทีนี้เวลาเราจะเริ่มเขียนโค้ดก็ต้องสร้างไฟล์ใหม่ขึ้นมาก่อนไปที่ File > New หรือกด Alt + FN (กด Alt ค้างไว้, กด F, ปล่อย F, กด N, ปล่อย N, ปล่อย Alt -- เหมือนสอนกด combo ในเกมส์เลยน้อ)

เมื่อเลือกคำสั่ง File > New ก็จะมีหน้าต่างสำหรับเขียนโปรแกรมขึ้นมาให้ได้เล่นกัน
ลองสั่ง Compile ดูเล่น ๆ ไปที่เมนู Compile แล้วเลือก Compile หรือจะกดแป้นลัด Alt + F9 (อันนี้หมายถึง กด Alt ค้างไว้, กดปุ่ม F9, แล้วปล่อย F9, ปล่อย Alt, ไม่ใช่กดปุ่ม F ทีหนึ่ง กด 9 ทีหนึ่งนาาา) เวลาเราคลิ๊กที่เมนูใด ๆ จะมีหัวข้อย่อยเลื่อนออกมาแสดง ถ้าอ่านดี ๆ ในแต่หัวข้อย่อยเขาก็จะมีบอกคีย์ลัดไว้ด้วย ใช้บ่อย ๆ ก็จะสามารถจำได้เองหล่ะครับ

ลอง Compile ดูเล่น ๆ ครั้งแรก จะเห็นได้ว่า Compile ผ่าน
หลังจากสั่ง Compile ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ได้เขียนโค้ด ก็ Compile ผ่านแล้ว หน้าจอแห่งความสำเร็จเลยนะครับเนี่ย ถ้าเราเขียนโค้ดแล้วโค้ดเราถูกต้องตามหลักของภาษาแล้วหล่ะก็ เวลา Compile ก็จะมีบรรทัดล่างครับว่า       Success : Press any Key     ครับ ก็คือหมายถึงกดแป้นใด ๆ เพื่อทำงานต่อ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

การตั้งค่าอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

หากว่าไม่ได้ลงใน Drive C: ตามที่บอกไว้ข้างต้นแล้วหล่ะก็ ก็จะต้องมาเ็ซ็ต Directory ที่จำเป็นต้องใช้ให้ถูกต้องด้วย  โดยการไปที่ เมนู Options > Directories...

เมื่อเข้าสู่เมนู Options > Directories... ก็เริ่มทำการเซ็ตค่าของ Folder TC ที่ติดตั้งไว้ในเครื่องได้เลย
ในภาพเราติดตั้งไว้ที่ Drive C:\TC แล้วจึงไม่ต้องทำการปรับเปลี่ยนค่าใด ๆ 

การตั้งค่าให้กับ Editor เนื่องจากเวลาเราเขียนโปรแกรมเราจะเขียนในหน้าจอของ Editor หน้าจอที่มี background สีน้ำเงิน นั่นแหล่ะครับ ในปัจจุบันคุณสมบัติที่ดี ๆ ของ IDE คือการช่วยผู้เขียนโปรแกรม หรือผู้สร้างโปรแกรม ให้มีการพิมพ์ผิดพิมพ์ถูกน้อยที่สุด ในสมัยโน้นเราใช้ Syntax Highlight ครับเป็นตัวช่วยบ่งบอก สมัยนั้นยังไม่มีพวก Code Completion แบบพิมพ์ไปแล้วมีคีย์มาให้เราเลือก เอาเป็นว่าข้ามไปก่อน หน้าจอที่แสดงด้านล่างคือการ setting ค่าที่เกี่ยวข้องกับ editor ครับ

การตั้งค่าให้กับ Editor
ก็มีการตั้งค่าอื่น ๆ ที่น่าสนใจ แต่ว่าก็ไม่ค่อยได้มีบทบาทเท่าไหร่กับการฝึกเขียนโปรแกรมภาษาซีเบื้องต้น ขออนุญาติข้ามไปก่อนหล่ะกันนะครับ ถ้ามีอะไรสงสัยก็คอมเม้นต์ถามกันมาได้ ผมตอบได้ก็ตอบ ตอบไม่ได้ก็จะบอกว่า ไม่รู้ครับ ไม่ทราบครับ ... อิอิ


การออกจากโปรแกรม Turbo C
ไปที่เมนู File > Quit
การออกจากโปรแกรม Turbo C นั้นทำได้โดยการไปที่เมนู File แล้วเลือก Quit หรืออาจจะกด Alt + X ก็ได้  ถ้ามีการทำการแก้ไขโค้ดอยู่แล้วยังไม่ได้ Save โปรแกรมก็จะขึ้นมาเตือนครับว่ายังไม่ได้ Save ครับ จากนั้นก็ตัดสินใจเลยครับว่าจะ Save หรือไม่ Save

ซึ่งเราสามารถสั่ง Save หรือ Load ได้จากเมนูไฟล์นี่แหล่ะครับ

หลังจากออกมาแล้วก็จะออกมาที่หน้าต่าง Command Prompt อีกครั้งแต่อาจจะเละ ๆ นะครับ ไม่ต้องสนใจครับพิมพ์คำว่า exit เพื่อปิดหน้าต่าง Command Prompt ครับ
พิมพ์คำว่า exit ตัวที่ขีดเส้นใต้นะครับ คือบรรทัดมันจะย้อนกลับไปด้านบน พิมพ์โดยไม่ต้องสนใจคำอื่น ๆ ครับ
เราก็จะกลับเข้าสู่ windows ตามปกติครับ  การทำงานของเราก็จะวน ๆ อยู่แบบนี้แหล่ะครับ เหมือนกับการพิมพ์เอกสาร word สักอันหนึ่งเราก็พิมพ์ไปเสร็จก็ปิดโปรแกรม ปิดเครื่อง เข้านอนประมาณนั้นครับ เขียนโค้ดก็เหมือนกันครับ โปรแกรมที่เราเปิดขึ้นมาก็เหมือนโปรแกรมพวก Microsoft Word นั่นแหล่ะครับ แต่โปรแกรมที่เราเปิดนั้นใช้ในการสร้างโปรแกรมครับ แค่นั้นเอง ฟังก์ชั่นมันก็จะมีการ Compile การ Run ที่อาจจะแตกต่างจาก Word ไปบ้างเล็กน้อย

สรุปก็คือ การใช้ Turbo C ซึ่งเป็น IDE ในการเขียนโค้ดจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เขียนมาก ถึงแม้ว่ามันออกจะเก่าไปสักเยอะ มี IDE ตัวอื่น ๆ ให้เลือกใช้มากมายในปัจจุบัน  อย่างเช่น DEV C อันนี้ก็นิยมกันมากสำหรับเด็กยุคใหม่ ๆ ที่ห่างไกลจากจอ DOS ไปแล้ว ไม่เป็นไรครับก็ยังคงหลักการเดียวกันครับ ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาซีเหมือนกัน แค่เครื่องมือที่ใช้นั้นแตกต่างกันไป ตอนหน้าผมก็อาจจะมีตอนแทรกนิดหน่อยเรื่องของการเซ็ต Edit Plus ให้ Compile Turbo C จะได้ไม่ต้องเข้า DOS ด้วยนะครับ แต่ไม่รู้ว่าจะได้อัพโหลดขึ้นวันไหน ผมนี่เถลไถลมากเลยครับกว่าจะเสร็จแต่ละตอน ๆ แต่ก็หวังว่าสักวันก็คงจะได้เนื้อหาที่ครอบคลุมประมาณหนึ่งนะครับ

พบกันใหม่ตอนหน้าครับ .