จะเริ่มเลี้ยงปลาทอง, อยากจะเลี้ยงปลาทอง, การเลี้ยงปลาทอง, วิธีเลี้ยงปลาทอง, ทำไมเลี้ยงปลาทองแล้วไม่รอด
เริ่มเรื่องจากพี่สาวพาหลาน ๆ (ก็ลูก ๆ ของพี่สาวนั่นแหล่ะ) มาเยี่ยมชมเคหะสถานที่ผมอยู่ ผมอาศัยซุกหัวนอน เด็กก็ตื่นตาตื่นใจกับตู้เลี้ยงปลาทองขนาด 60" แล้วก็มีปลาทองมากมาย ทีนี้เวลากลางคืนพอเปิดไฟนีออนในตู้แล้ว แสงไฟกระทบกับตัวปลาทองสีสันต่าง ๆ ดูแล้วมันสวยมาก เพราะว่าผมเลี้ยงนี่ตู้ใส น้ำใส (ถึงแม้ว่าปลาในภาพนั้นจะเยอะมากเกินขนาดตู้ไปหน่อยก็ตาม)
สำหรับคนที่เริ่มอยากจะหาสัตว์เลี้ยงสักอย่างมาให้วุ่นวายในชีวิต เพราะปกติเลี้ยงชีวิตตัวเองก็เหนื่อย แต่ยังไม่พอชอบหาสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ มาเลี้ยง
ข้อได้เปรียบ หรือจุดแข็งของการเลือกเลี้ยงปลาทองเป็นสัตว์เลี้ยง
1. การขับถ่ายของเสียของปลาทอง ก็จะอยู่ในตู้ ไม่เหมือนสัตว์เลี้ยงพวกหมา แมว ถ้าบางตัวสอนไม่เป็นมันก็ขับถ่ายส่งเดช เละเทะไปหมด ของเสียของปลาทองนั้นไม่มีกลิ่นเพราะว่ามันอยู่ในน้ำ ถึงจะอยู่นอกน้ำมันก็กลิ่นไม่แรงเท่าของหมา หรือแมว
2. สถานที่ที่ใช้เลี้ยง ปลาทองนั้นขอแค่มีน้ำ มีอ๊อกซิเจน หรือกระบวนการในการเพิ่มอ็อกซิเจนให้น้ำ อย่างตู้เลี้ยงปลาก็มีให้เลือกหลายขนาดครับ แต่ละขนาดก็มีวิธีการเพิ่มอ็อกซิเจนแตกต่างกันไป ตู้เล็กก็ใช้ปั๊มลม ตู้ใหญ่ก็ใช้ระบบปั้มน้ำล้นลงกรองข้าง ๆ ตู้ อันนี้ก็ลองดูให้เหมาะกับบ้านเรา ความสามารถของเราที่จะวางมันได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวกับพื้นที่ในบ้าน ปลาทองมันก็ว่ายน้ำในตู้ไม่ออกไปนอกบ้านให้เราต้องวิ่งตามหา ถ้าเลี้ยงหมาอย่างบ้านผมติดถนนใหญ่ ก็มีโอกาสที่จะโดนรถทับตายได้ง่าย ๆ สถานที่ใช้เลี้ยงนั้นมือใหม่แนะนำตู้ครับ เอาเป็นตู้ที่อยู่บริเวณในบ้านด้วยจะดีมาก ๆ เพราะว่าปลาจะป่วยยากกว่าเลี้ยงในที่เปิดเช่นบ่อ หรือบ่อซีเมนต์ที่ตั้งอยู่นอกบ้าน
3. ความสามารถในการอดอาหาร สมมติว่าคุณเป็นคนที่อยู่หอพักอาจจะต้องมีการกลับบ้านเสาร์ - อาทิตย์ หรือต้องออกเดินทางค้างแรมชอบเที่ยวนั่นโน่นนี่ ปลาทองสามารถอดอาหารได้ดีกว่าหมา และแมว คือพูดง่าย ๆ เราไม่ต้องเป็นห่วงว่ามันจะอดไหม คือมันอดครับแต่มันไม่ตายเพราะอดอาหาร ปลาทองจะคล้าย ๆ กับคนคือ ตายเพราะกิน ไม่ได้ตายเพราะอด ปลาทองที่อดอาหารความแข็งแรงของร่างกายจะสูงกว่าปลาทองที่ได้กินอิ่ม ๆ เสียอีกนะครับ สามารถอดได้ยาวนานถึง 3 - 4 สัปดาห์ (เขาว่ามาอย่างนั้น ผมอย่างมากที่เคยให้อดก็ประมาณ 10 วัน หรือถ้ากลัวมันอดจริง ๆ ก็มีเครื่องให้อาหารปลาแบบตั้งเวลา หาซื้อมาใช้ได้อีกนะครับ
4. อาหารของมัน อาหารของปลาทองก็อาหารเม็ดนี่แหล่ะครับมีหลายขนาด หลายเกรด เลือกซื้อได้ง่าย หรือจะบำรุงด้วยอาหารสดพวกไรทะเล อะไรงี้ก็ได้เหมือนกัน การเก็บรักษาก็ไม่ยุ่งยาก กลิ่นก็มีบ้างสำหรับผมว่าไม่เหม็นนะ แต่บางคนบอกว่าเหม็นก็ว่ากันไป แต่ว่ากลิ่นมันก็ไม่ได้แรงมาก เวลาให้อาหารก็ไม่เลอะมือเราก็แค่เอาช้อนตักใส่ลงไปในตู้แค่นั้น ง่ายที่สุดแล้วหล่ะ ไม่ต้องเรียกปลาทองมากินด้วย ฮ่า ๆ เพราะปลาทองมันเห็นคุณมันก็จะรู้ว่าจะได้กินอีกแล้ว อาหารห่อหนึ่งถ้าเลี้ยงแบบให้อาหารพอดี ๆ กินหล่ะก็อยู่ได้นานเลยครับ บางคนให้มากมันก็ขี้ออกหมด สังเกตเวลาปลาทองกินอาหารใหม่จะไปดันอาหารเก่าออกมาทางตูดครับ ความจริงแล้วอากาศในเมืองไทยให้ไม่เกินวันละสองมื้อก็เพียงพอครับ ผมให้ส่วนมากวันละมื้อเองครับ จะมีบางวันที่ไปนั่งดูมันเพลิน ๆ ก็หยิบอาหารให้มันนิดหน่อย เห็นมันมาออกันหน้าตู้แล้วใจอ่อน
5.การกำจัดซากศพ อย่างเช่นถ้าหมาแมวตายทำไงหล่ะครับอย่างดีหน่อยก็ขุดหลุมฝังไว้อาลัย ถ้าเอาแบบมักง่ายหน่อยก็ใส่ถุงดำโยนลงถังขยะไปเลย แต่ถ้าปลาตายซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ๆ เพราะปลาทองหลาย ๆ ตัวไม่ได้อายุยืน มันอาจจะอยู่ ๆ เป็นโรคตายก็ได้ หรืออาจจะมีความพิการแฝงมาตั้งแต่ที่ร้านอยู่แล้ว เอาเป็นว่าสิ่งมีชีวิตต่อให้เลี้ยงเก่งไงมันก็ต้องตายเป็นสัจธรรม ปลาทองก็จะสามารถจะฝัง หรือจะทิ้งลงชักโครก (ฟังดูโหดเนอะ) ก็ได้เหมือนกัน แต่ก็อยากให้ฝังมากกว่านะเพราะว่าเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงของเรา ก็แสดงความรักเป็นครั้งสุดท้าย แต่อย่างไรก็ได้ครับบางคนก็เลี้ยงแบบหาที่ฝังไม่ได้ แบบว่ามีแต่ปูน / คอนกรีตไปเสียหมด
ถ้าคุณตัดสินใจได้แล้วว่าเราเหมาะ และพร้อมที่จะเลี้ยงปลาทองแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงมีดังต่อไปนี้ครับ
ตู้ปลา ตู้ปลาทองนั้นอย่างที่บอกครับว่าการนำตู้ปลามาตั้งในบ้านจะทำให้เลี้ยงปลาทองง่ายกว่าการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ หรือการเลี้ยงแบบเอาตู้ออกไปตากแดดตากลมนอกบ้าน เพราะอะไรหน่ะหรือครับ เพราะว่าปลาทองค่อนข้างที่จะอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การรักษาระดับอุณหภูมิให้คงที่ตลอดวันนั้นจะทำให้ปลาทองรอดได้ดีมากขึ้น บางบ้านเอาตู้ปลาไปตั้งไว้นอกบ้าน พออุณหภูมิกลางวันกับกลางคืนเปลี่ยน แตกต่างกันไว ปลาก็จะป่วยได้ง่าย ยิ่งถ้าเป็นฤดูฝน น้ำฝนลงอุณหภูมิในน้ำเย็น ค่าความเป็นกรดด่างเปลี่ยน ปลาก็ป่วยได้
เลี้ยงในบ่อหรือในที่เปิดกว้างอันนี้ก็ยากเหมือนกันเพราะว่าควบคุมอุณหภูมิก็ยากแล้ว ต้องหมั่นดูน้ำฝน แถมปลาป่วยเป็นโรคก็ต้องรู้จักวิธีรักษาอีก อันนี้พวกฟาร์มปลาที่เขาชำนิชำนาญเขาก็จะเลี้ยงรอด แต่พอมาถึงมือเราเลี้ยงแบบเขาบ้างก็ตายทุกที
ตู้ปลาก็จะมีหลายขนาด แต่อยากให้พิจารณาถึงเรื่องความสามารถในการดูและรักษาตู้ปลาของตัวเองเป็นหลัก เพราะว่าอย่าลืมว่าปลาก็ขับถ่ายในตู้นั่นแหล่ะ การกำจัดของเสียเหล่านั้นแน่นอนว่าก็เป็นหน้าที่ของคนเลี้ยงปลา
การใส่ของประดับลงไปในตู้ปลาก็ทำได้ แต่นั่นก็จะทำให้การทำความสะอาดยากขึ้นด้วย อย่างผมผมก็ใส่หินใส่พวกสิ่งของลงไปนะ เพราะเราเลี้ยงเพื่อความสวยงามดังนั้นการทำให้มันแลดูสวยงามมันก็เป็นอะไรที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ
่ระบบการดูแลของเสียของตู้แต่ละไซร้ส์ก็ต่างกัน ถ้าคุณเลือกซื้อตู้เล็ก ๆ ผมแนะนำให้หาที่กรองที่ต่อกับปั๊มลมมาช่วย เช่นพวกกรองกระปุก (ที่มีฟองน้ำพันอยู่รอบ ๆ ทั้งหลาย) การมีระบบกรองจะช่วยให้น้ำใส อันนี้ลองไปศึกษาระบบกรอง , กรองบน - ก็คือดูดน้ำไปปล่อยที่ระบบกรองด้านบนแล้วปล่อยน้ำที่ผ่านการกรองแล้วออกมา, กรองล่้าง กรองนอก ก็คือดูดน้ำไปกรองที่ระบบกรองที่อยู่ด้านนอกแล้วก็เอาน้ำที่ผ่านการกรองแล้วแล้วกลับลงมา, กรองใน พบมากในตู้ใหญ่ ๆ เขาจะทำเป็นห้องเล็ก ๆ ไว้อยู่ด้านหนึ่งของตู้แล้วก็จะมีระบบกรองอยู่ในส่วนนั้น ระบบกรองจริง ๆ แล้ว ไม่ได้ทำให้น้ำใส (อ้าว) คืออย่าไปคาดหวังว่าเมื่อซื้อตู้ปลามา มีระบบกรองเสร็จใส่น้ำลงไปปุ๊บ ใส่ปลาปั๊บ น้ำจะใสทันที ระบบกรองก็คือการกักตะกอนส่วนหนึ่งไว้เฉย ๆ สิ่งที่จะทำให้น้ำใสก็คือจุลินทรีย์ แบคทีเรีย(ที่ไม่ก่อให้เกิดโรค) ต่าง ๆ ที่อยู่อาศัยภายในกรอง ย่อยเศษของเสียในกรองนั้นหรอกที่จะทำให้น้ำใสได้ บางทีถ้าเราเลี้ยงปลาในที่โล้น ๆ น้ำก็ไม่ใสสู้ตู้ที่มีเศษวัสดุพวกหินพรุน หรือว่าพวกเครื่องปั้นดินเผาที่อยู่ในตู้ได้เหมือนกัน การเลือกซื้อตู้ปลายังต้องคำนึงถึงเรื่อง "น้ำ" ด้วย
น้ำ น้ำเป็นองค์ประกอบหลักของการมีชีวิตของปลาเลย น้ำที่เราหาได้ง่ายที่สุดก็คือน้ำประปานั่นเอง แต่สิ่งหนึ่งถ้าจะเลี้ยงปลาให้รอดยาว ๆ คงต้องบอกว่าต้องหาน้ำประปาที่ไม่มีคลอรีนผสม แต่เราไม่สามารถมองเห็นปริมาณคลอรีนที่อยู่ในน้ำได้ด้วยตาเปล่าใช่ไหม ? ดม ? บางโอกาสก็ไม่เวิร์ก แถมปริมาณคลอรีนที่เราเปิดน้ำประปาออกมานั้นยังขึ้น ๆ ลง ๆ อีกด้วย ถ้าโชคดีเราก็ใช้น้ำประปานั้นได้เลย แต่ถ้าโชคร้ายขึ้นมาปลาก็ตาย (ซึ่งนั่นคงไม่ใช่จุดประสงค์ของบทความ) โดยมากแล้วการกำจัดคลอรีนวิธีที่เว็บอื่น ๆ แนะนำกันหรือทำกันหลัก ๆ ไม่เสียค่าใช้จ่ายก็คือการพักน้ำ แต่ก็ต้องมีภาชนะที่ให้น้ำคุณพักได้เพียงพอกับปริมาณที่คุณจะใช้
โดยมากการจะซื้อตู้นั้นคุณต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำที่คุณพึงจะหาได้ด้วย เพราะบางทีก็ต้องมีการเปลี่ยนน้ำในตู้บ้าง อาจจะเปลี่ยนกันไม่ทั้งหมดแต่ก็ต้องมีการถ่ายเทน้ำเก่าออก เอาน้ำใหม่ใส่ไปบ้าง หรือการถ่ายน้ำเพื่อกำจัดของเสียของปลาทองที่สะสมอยู่ในตู้
ดังนั้นถ้าใคร่จะซื้อตู้ใหญ่ และไม่อยากพักน้ำ และไม่อยากลงทุนมาก ก็ต้องซื้อพวกยาฆ่าคลอรีน แต่ของพวกนี้บอกตามตรงคือผมก็ไม่มีประสบการณ์เหมือนกัน ไม่รู้ว่าใส่เกินขนาดแล้วปลาจะตายไหม ก็ควรลงทุนพวกเครื่องกรองน้ำด้วยที่ขจัดคลอรีนได้
แต่ที่ผมอยู่คือหอพักที่มีแท้งก์ขนาด 4 ตัน พักน้ำไว้ด้านล่าง แล้วก็มีแท้งก์น้ำอีก 4 ตันไว้ด้านบนตากแดดร้อน ๆ เลย แบบว่าเปิดมากลางวันอาบน้ำไม่ได้ อันนี้ก็ต่อน้ำจากสายยางใช้ได้เลยเพราะความร้อนทำให้คลอรีนสลายไปได้ แต่ก็ไม่ควรนำน้ำที่อุณหภูมิสูง ๆ มาเลี้ยงปลาเพราะจะทำให้ปลาตกเลือดที่หางได้ บางตัวก็อาจจะช็อคอุณหภูมิตายไปได้เหมือนกัน ก็เลือกใช้น้ำช่วงเช้าหรือเย็น ๆ เอา
อุปกรณ์ในการเติมอ็อกซิเจนให้น้ำ อันนี้ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าปลาอาศัยอยู่ในน้ำแต่กระบวนการของการดำรงชีวิตอยู่นั้นปลาต้องหายใจ อย่างปลาทองที่ต้องอ้าปากตลอดเวลา จนมีคนเอามาล้อว่าปลามันด่าว่า "พ่อมึง พ่อมึง" ในความเป็นจริงแล้วนั่นคือวิธีการหายใจ (ในภาษาวิทยาศาสตร์ใช้คำว่าการแลกเปลี่ยนก๊าซ) ปลาทองจะอมน้ำเข้าไปมันจะเกิดแรงดันทำให้น้ำไหลผ่านจากปากไปยังเหงือก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเหงือกปลาทองก็จะเปิดด้วยเสมอ ภายใต้ฝาปิด ๆ เปิด ๆ ที่อยู่บริเวณข้างตัวปลา ก็คือเหงือก เหงือกจะมีเส้นเลือดฝอยเป็นจำนวนมากเพื่อทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนที่ละลายในน้ำเข้าสู่กระแสเลือดของปลา เหมือนกับคนที่จะมีเส้นเลือดฝอยจำนวนมากแทรกอยู่ในถุงลมปอดหลักการเดียวกัน แต่คนหายใจเข้าทางจมูก,ปาก หายใจออกก็ใช้ทางเดิม แต่ปลาอ้าปากฮุบน้ำ น้ำไหลผ่านเหงือกออกอีกทางหนึ่ง
ในน้ำก็มีอ็อกซิเจนละลายอยู่ เราก็คงมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นอีกนั่นแหล่ะ การจะทำให้อ็อกซิเจนละลายในน้ำทำได้หลายวิธีมาก เช่นการตีน้ำ การเขย่าขวดน้ำ การเอาลมพัดเป่าผิวหน้าของน้ำ หรือการเปิดปั๊มลมให้เกิดฟองอากาศใต้น้ำ
ผมเคยได้ยินคนซื้อปลาทองคนหนึ่งถามพ่อค้าว่าถ้าเขาซื้อไปแล้วจะต้องซื้อเครื่องเป่าลมที่เรียกภาษาชาวบ้านง่าย ๆ ว่า "อ็อก" (คาดว่าคงมาจากคำว่า อ็อกซิเจน) ด้วยไหม ? พ่อค้าก็ตอบว่าไม่ต้องก็ได้ แต่ผมว่ามันก็ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย แต่ถ้าถามผม ผมก็คงต้องบอกว่าซื้อไปสิจำเป็นนะ (คำตอบผมอาจจะทำให้ขายปลาไม่ได้) ผมอยากจะให้นึกถึงถ้าปริมาณน้ำในตู้สี่เหลี่ยม ๆ คืออากาศในห้อง ๆ หนึ่ง แล้วจับคนเลี้ยงปลาโยนลงไป คนก็จะหายใจได้นานหรือไม่ขึ้นอยู่กับขนาดห้องนั้น ๆ นั่นก็คือเดี๋ยวก็หมดอากาศคนเลี้ยงก็จะหายใจไม่ออก ถ้าปลาตัวเล็กจำนวนน้อย ตู้ใหญ่มาก ๆ ปลาก็จะเลี้ยงอยู่ได้ เพราะว่าน้ำเยอะ อากาศมันก็เยอะตาม อากาศละลายในน้ำได้หลายวิธีเช่น ลมพัดผิวหน้าน้ำ หรือการเกิดตระไคร่น้ำ ตะไคร่สังเคราะห์แสงได้ก๊าซออกซิเจนมาเติมน้ำ ปลาก็อยู่ได้ไม่จำเป็นต้องใช้อ็อก เพราะอากาศเพียงพอ
บางคนคิดว่าการใส่สาหร่ายลงไปก็ช่วยได้เพราะกลางวันสาหร่ายก็จะสังเคราะห์แสงแล้วทำให้ได้อ็อกซิเจนออกมา แต่อย่าลืมว่ากลางคืนไม่มีแสงสาหร่ายก็จะไปแย่งอากาศในน้ำของปลาด้วยเช่นกัน
![]() |
วันแรกที่ได้ซื้อตู้ปลามาเลี้ยง ก็ซื้อปลาทองตัวเล็ก ๆ มาลองก่อน ใส่สาหร่ายลงไปนิดหน่อย |
ปลาที่ตัวโตก็จะใช้ปริมาณอ็อกซิเจนเยอะตามไปด้วย ดังนั้นหากคุณเลี้ยงปลาตัวเล็กแล้วไม่ได้ใช้อ็อกซิเจน อย่าเข้าใจผิดว่ามันจะอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะมันมีการเจริญเติบโต หรือการย่อยสลายของเสียของจุลินทรีย์ แบคทีเรียที่อยู่ในตู้อันนี้ก็ต้องใช้อ็อกซิเจนเหมือนกัน
ถ้าคุณเลี้ยงปลาทองหล่ะก็ กระบวนการในการเติม อ็อกซิเจน จะต้องมี อย่าไปกลัวว่าจะเปลืองไฟ เครื่องเป่าลมนี้ปกติแล้วถ้าไม่ได้เลี้ยงกันในระดับฟาร์มใช้เครื่องละไม่เกิน 300 บาท กินไฟไม่กี่วัตต์หรอกครับ เด็กในหอผมเลี้ยงปลาทอง ตอนเจ้าตัวไม่อยู่หอ กลับบ้านเสาร์อาทิตย์ แต่เปิดอ็อกซิเจนไว้ มิเตอร์หน้าห้องแถบจะไม่หมุนเลยครับยืนมองจนเมื่อยคอนั่นแหล่ะ
แล้วควรจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันเลยไหม อืม อันนี้ถ้าเกิดว่าเลี้ยงสัดส่วนของปลาทองกับปริมาณน้ำ น้อยก็ควรจะเปิดตลอดครับ ถ้าเราจะดูกันจริง ๆ เลยก็ให้ดูว่าปลาทองมีอาการเหล่านี้ไหม เช่น ลอยอยู่ช่วงบนของตู้ ไม่ดำน้ำลงไป ไม่สดใสร่าเริง ฮุบอากาศที่อยู่บนผิวน้ำ (บางคนเข้าใจว่าการฮุบอากาศที่ผิวน้ำนั่นคือปลาหิวมาขออาหาร อันนี้ผิดครับ ถ้ามันหิวแบบนั้นมันจะต้องว่ายอย่างแข็งแรงครับ) อาการเหล่านี้คือเป็นการบ่งบอกได้ว่าน้ำนั้นขาดอ็อกซิเจนแล้วครับ ปล่อยทิ้งไว้ปลาทองก็อาจจะตายเพราะขาดอากาศได้ครับ
ปลาทองสามารถอดอาหารได้ครับ แต่จะขาดเครื่องเป่าลมเพื่อเติมอากาศในน้ำไม่ได้เลย
ตำแหน่งที่ตั้ง จุดภูมิศาสตร์ สถานที่ที่คุณจะใช้ในการเลี้ยงปลา อันนี้จะเกี่ยวกับเรื่องตำแหน่งการจัดวางตู้เลี้ยงปลา ผมอยากให้คุณคำนึงถึงความสามารถในการหอบน้ำขึ้นไปใส่ตู้ อาจจะใส่ถัง ? หรือใช้สายยาง การระบายน้ำออกจากตู้ว่ามีความยากความง่ายขนาดไหน จะเลือกการตักออกหรือกาลักน้ำ แล้วน้ำที่ลักออกไปหล่ะจะเอาไปทิ้งไว้ที่ไหน ? สิ่งเหล่านี้บางคนก็อาจจะลืมนึกไป เจตนาของผมไม่ได้อยากจะทำให้การเลี้ยงปลานั้นดูยาก แต่เอาเป็นว่าพื้นฐานแล้วผมเป็นคนที่ค่อนไปทางขี้เกียจ ซึ่งไม่ดีเลย ในการเลี้ยงปลา ดังนั้นการเลี้ยงอะไรสักอย่างหนึ่งเราก็ต้องรับผิดชอบเป็นเสมือนภาระที่เพิ่มขึ้นมา การคำนึงถึงกำลังที่มีก็ย่อมจะดีกว่า จัดหาอุปกรณ์มาหมดทุกอย่างแล้ว เลี้ยงไปได้สักพักก็รู้สึกเป็นภาระขึ้นมา ทำให้เสียทั้งเงินทั้งเวลา ของที่ซื้อมาก็เกะกะอีก เนาะ ?
ผมไม่อยากจะเห็นบ้านที่มีตู้ปลาขนาดใหญ่แต่ข้างในเต็มไปด้วยของอะไรก็ไม่รู้อยู่ในตู้ปลา ไม่มีหรอกปลามีแต่ของที่ไม่รู้จะเอาไปเก็บไว้ที่ไหนประมาณนั้น รู้สึกเสียดายของจัง หรือบางบ้านมีตู้ปลาแต่เลี้ยงแต่ตะไคร่น้ำ ตู้สวยมากเลี้ยงปลาหางนกยูงเงี้ยะ ไม่ได้ว่าผิดนะ แต่ว่าเอ่อ ... ตอนแรกคุณตั้งใจจะเลี้ยงปลาหางนกยูงเหรอครับเนี่ย พอมันเป็นภาระก็ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นอ่ะนะ
ที่ตั้งที่เลี้ยงของคุณได้รับแสงแดดมากน้อยเพียงไหน ? เพราะว่าถ้าได้รับแสงแดดมากไป สิ่งหนึ่งที่จะตามมาก็คือตะไคร่น้ำสีเขียว ๆ ว่ากันตามความจริงแล้วตู้ปลาควรจะได้รับแสงแดดบ้าง แต่อย่าให้มากจนเกินไปเพราะตะไคร่น้ำจะโตเร็วมาก แล้วคุณก็จะต้องขัดตู้บ่อยมาก ปลาทองที่ได้รับแสงแดดบ้างก็จะมีสุขภาพดี แสดงแดดช่วยในกระบวนการสังเคราะห์แสงทำให้ปริมาณไนเตรตในน้ำลดลง ไนเตรตเกิดจากกระบวนการย่อยสลายของเสียพวกขี้ปลา พวกพืชน้ำชอบไนเตรตเพราะจะไปช่วยให้เขาโต รวมทั้งตะไคร่น้ำด้วย
คุณอาจจะชอบสีเขียวของตะไคร่น้ำอันนี้ก็ไม่ผิด แต่ถ้ามีเยอะเกินไป ตะไคร่น้ำมันจะเป็นสีดำำ ๆ ก็อาจจะทำให้ตู้คุณไม่สวยได้ ข้อเสียของตะไคร่น้ำอีกอย่างคือ มันจะไปเกาะพวกไม้น้ำทำให้ไม้น้ำตายได้ครับ เรื่องของแสงแดดถ้าให้ดีก็คำนึงถึงเรื่องระยะเวลาที่จะได้รับแสงว่านานไหม นานแค่ไหน กับความเข้มแสง ความเข้มแสงมากก็จะทำให้พวกตะไคร่น้ำนี้โตเร็วด้วยเช่นกันครับ
ถ้าคุณเป็นคนที่ปลูกต้นไม้ด้วยคุณน่าจะเอาน้ำที่ถ่ายออกจากการเลี้ยงปลาไปรดต้นไม้ แทนน้ำประปานะครับจะช่วยประหยัดได้มาก แต่ประเด็นคงไม่ใช่ประหยัดหรอกครับ ผมว่าคุณจะภูมิใจในตัวเองที่ได้ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า ดังนั้นถ้าคุณมีสถานที่ตั้งในลักษณะที่ทำให้คุณสามารถใช้น้ำได้อย่างนี้แล้วหล่ะก็ผมว่ามันเยี่ยมเลยครับเพอร์เฟ็คสุด ๆ ไปเลย
การเลี้ยงในภาชนะที่ตั้งบนพื้นปูนซีเมนต์ เช่นอ่างไฟเบอร์กลาส หรือกะละมังอะไรแบบนี้ ก็ต้องระวังนะครับ เพราะว่าเวลากลางคืนพื้นปูนซีเมนต์จะเย็นตัวอย่างรวดเร็วส่งผลมาถึงอุณหภูมิของน้ำอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นถ้าจะเลี้ยงบนภาชนะเหล่านี้ ก็ควรหาอะไรมาหนุนรองเพื่อยกระดับขึ้นมานิดหน่อย เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิรวดเร็วเกินไป
ปลาทอง ปลาเงินปลาทอง ก็มีให้เลือกหลายสายพันธุ์ตามแต่ความชอบของแต่ละคน วิธีการเลือกปลาทองที่จะเอามาเลี้ยงนั้น สำหรับผมจะเริ่มดูจาก
1. ดูสีสันความสวย เป็นอันดับแรกเลย ในบางทีก็ดูถึงโครงสร้างของหน้าตาด้วย ปลาทองหน้าตาไม่เหมือนกันซะหมดทุกตัว บางตัวหน้าทู่ ๆ บางตัวหน้าเขาจะแหลม ๆ บางตัวหน้าก็ไม่ค่อยสวย บางตัวก็น่ารัก บางพันธุ์ก็เป็นแบบหัวมีวุ้นด้วย ถ้าซื้อปลาไม่ไซร์สเล็กเกินไปหน้าก็จะไม่เปลี่ยนแล้ว แต่ถ้าซื้อปลาไซร้ส์เล็กพอโตขึ้นหน้าตาก็เปลี่ยนได้อีกนะ
2. ดูครีบ นอกจากความสวยแล้วความครบของครีบนี่สำคัญมาก ถ้าเป็นไปได้อยากให้ซื้อปลาทองจากร้านที่เขาเอาใส่ตู้ไว้ขาย เพราะเราสามารถดูได้ว่าครีบของปลาครบหรือเปล่า โดยมากแล้วที่ผมเจอ ครีบไม่ครบจะเป็นครีบตรงรูทวาร บางตัวจะมีครีบเดียว แบบนี้ถ้าเป็นนักเลี้ยงปลาต่อให้ปลาสวยแค่ไหนก็จะไม่ซื้อมาเลี้ยง ถึงแม้ว่าครีบตูดบางตัวจะถูกครีบหางบัง เวลาอยู่ในตู้ก็สวยได้เหมือนกันก็ตาม ครีบรอบทวารจะต้องมีสองข้าง เท่า ๆ กัน ครีบท้อง ก็มี 2 อัน ครีบว่ายเหมือนมือของเราก็ต้องมี 2 ข้าง ครีบกระโดงหลังอันนี้จะต้องแลดูเป็นแผ่นสวยงามตั้งขึ้น ปลาทองที่ว่ายน้ำแล้วครีบกระโดงหลังตั้งขึ้นดูจะสวยดี สง่าดี ครีบหางควรไม่มีรอยพับงอถึงจะเรียกว่าสวย ส่วนใหญ่ปลาทองที่นำมาขาย ๆ กันไม่ค่อยเห็นครีบที่เป็นแบบครีบปลาทูนะ เพราะปลาที่ครีบหางเป็นครีบหางปลาทูนี้มักจะโดนคัดทิ้งตั้งแต่ตอนเล็ก ๆ แล้ว เพราะเป็นลักษณะด้อยที่เห็นได้ชัดที่สุด ทางฟาร์มมักจะไม่เลี้ยงไว้เพราะขายไม่ได้ หรือขายไม่ได้ราคา เปลืองอาหารเสียเปล่า ๆ เราจึงไม่ค่อยเห็นกันในท้องตลาดสักเท่าไหร่ ครีบหางแบบครีบหางปลาทูก็ให้ไปดูปลาทูที่เราทอดกิน มันจะเรียบเป็นแผ่นเดียวไปเลย ไม่เป็นเหมือนลักษณะพลิ้ว ๆ คล้ายกระโปรงผู้หญิงแบบปกติทั่วไป
ครีบไม่ควรจะเห็นเป็นรอยเลือด แต่บางทีก็มีบ้างเนื่องจากการกระทบกระทั่งกันในขณะขนส่ง หรืออาจจะเกิดจากไปกระแทกกับของประดับในตู้ อย่าเลือกปลาที่มีลักษณะที่ครีบเปื่อย ขาดเป็นริ้ว ๆ นั่นคืออาการป่วยของปลาชนิดหนึ่ง ครีบจะต้องใส ๆ เรียบ ๆ ถ้าเพ่งดี ๆ จะเห็นเป็นลอนสวยงาม ปลาทองบางสายพันธุ์หางจะสั้น ๆ ดุกดิก ๆ น่ารักไปอีกแบบ ปลาทองบางสายพันธุ์หางจะออกยาว ๆ
3. เกล็ด เกล็ดปลาทองจะเรียบเนียนแน่น บางสายพันธุ์จะมีลักษณะเด่นอยู่ที่เกล็ด คือพันธุ์เกล็ดแก้ว อันนี้เกล็ดเขาจะเหมือนผิวลูกกอล์ฟ ไม่ได้ป่วยแต่อย่างใด แต่ถ้าปลาที่มีอาการป่วยเกล็ดจะมีอาการช้ำเลือด พองฟูออกมา ดูเหมือนมีลักษณะของอาการอักเสบ หากเห็นปลาทองเกล็ดหลุดให้ระวังอาจจะเกล็ดหลุดเนื่องจากตัวเห็บปลา ซึ่งเห็บปลานี้เป็นปรสิตชนิดหนึ่ง สังเกตุได้ด้วยตาเปล่า มันจะเกาะอยู่กับตัวปลาเหมือนเห็บหมาแหล่ะดูดเลือดปลาเป็นอาหาร ทีนี้เวลาปลาโดนดูดเลือดก็จะคัน เขาก็จะว่ายเอาตัวเข้าถูกับสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ในตู้ทำให้เกล็ดหลุดได้
ถึงแม้ว่าเกล็ดหลุดนี้จะงอกออกมาใหม่ได้ แต่ถ้าซื้อไปก็ต้องระวังจะได้ของแถมไม่รู้ตัว การรักษาโรคเห็บ ยิ่งถ้าเราเอาปลาที่มีเห็บไปรวมกับปลาเก่าที่บ้านเราแล้วหล่ะกัน การจะรักษาก็จะวุ่นวายมากขึ้นไปอีก เพราะมันตายยาก ต้องหยอดยากันเป็นระยะ ๆ ยาวนานถึงหนึ่งเดือนเลยทีเดียว
4. พฤติกรรมของปลา ปลาทองที่แข็งแรงเขาจะว่ายน้ำตลอดเวลา มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา การเคลื่อนที่ไม่ตุปัดตุเป๋ เคลื่อนที่นิ่มนวล เราจะรู้สึกได้ว่าเขามองเราเขาจะมีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของเขาตลอดเวลา เช่นเวลาเราจะช้อนเขาก็จะว่ายน้ำหนี การว่ายก็จะทรงตัวตั้งตรงตลอดเวลา ไม่มีอาการของการว่ายหงายท้อง หรือว่ายไม่เป็นทิศทาง ปลาทองที่แข็งแรงจะว่ายน้ำเพื่อหาของเข้าปากตลอดเวลา อาจจะมีหยุดบ้างตอนที่มันจะพักผ่อนจริง ๆ เช่นงีบหลับ พบได้ตอนกลางคืน หรือบางทีก็เวลาที่ไม่ใช่เวลาอาหารของเขา (ถ้าเราให้อาหารเป็นเวลานะ) ปลาทองที่หงายท้อง หรือลำตัวไม่ขนานกับพื้น อาจจะมีอาการหัวปัก แบบนี้ถือว่าเป็นปลาที่มีความผิดปกติไม่ควรซื้อมาเลี้ยง
5.อวัยวะอื่น ๆ ของปลา เช่นเหงือก ถ้าเหงือกช้ำเลือดนี่ก็อาจจะป่วยอยู่ ดวงตาต้องมีครบสองข้าง ปากก็ต้องไม่มีลักษณะของการเปื่อย ให้สังเกตความพิการของปลาทอง ถ้าปลาไม่สมบูรณ์ก็ไม่ควรซื้อมาเลี้ยง
6.ร้านขาย ร้านขายก็ควรจะเป็นร้านที่เชื่อถือได้ ร้านที่ผมซื้ออยู่เวลาซื้อบางทีก็ได้ของแถมคือเห็บปลามาด้วย ดังนั้นเวลาซื้อมาก็ควรเลือกซื้อร้านที่ทำความสะอาดบ่อย ๆ เวลาเลือกปลาดูด้วยว่ามีอะไรเกาะตามตัวปลาหรือไม่ พวกปริสิตภายนอกที่ฮิต ๆ กันมักจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปลาทองที่อยู่ในกะละมังอันนี้ดูยาก ถ้าอยากได้จริง ๆ ถ้าร้านเขาอนุญาตก็จับใส่ตู้เพื่อดูความสมบูรณ์ต่าง ๆ ก่อน ปลาที่อยู่ในกะละมังก็จะทำให้เราไม่เห็นครีบตูด สภาพของปลาด้านข้าง
อย่าเลือกปลาที่อยู่ในน้ำสีเหลือง ๆ น้ำสีเหลือง นี่เข้าใจว่าเป็นน้ำยาอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งปลาที่อยู่ในน้ำสีเหลือง ๆ ดูแล้วอาจจะร่าเริงแจ่มใสน่ารักดี แต่โดยมากแล้วพอเราซื้อมามันจะอ่อนแอ แล้วก็ป่วยตายทันที สำหรับผมถ้าปลาที่อยู่ในน้ำสีเหลือง ๆ ซื้อมาแล้วเพราะความสวยโดนใจก็มักจะต้องเลี้ยงแยก แอบใส่พวกยาแก้อักเสบของคนลงไป จับอดอาหาร แต่บางตัวก็ไม่รอดนะครับ ทำแบบนี้หลายวันจนกว่ามั่นใจได้ว่าเขาจะแข็งแรงดีจึงจะจับไปเลี้ยงรวมกับปลาเดิม แต่ก็แนะนำว่าถ้าเห็นก็อย่าไปซื้อเลยเพราะปลามันอ่อนแอ เสี่ยงกับการเสียเงินเป็นอย่างยิ่ง
วันแรกของการเลี้ยงปลา (ของผม)
วันแรกของการเลี้ยงปลา หลังจากที่คนขายตู้ปลานำตู้ปลามาส่ง (ไม่อยากจะบอกว่า หินก็ไม่ล้างให้ ใส่ลงไปในตู้ปลาผมเฉยเลย) ผมก็เลยต้องมานั่งทำความสะอาดตู้ปลา พร้อมกับหินประดับตู้ปลาในตู้ปลา 60 นิ้ว ตู้ปลา ขาตั้ง ฝาปิด อุปกรณ์ครบเซ็ตชุดนี้โดนไปเจ็ดพันกว่า ๆ ความจริงอยากได้ตู้อีกไซ้ร์สหนึ่ง ที่ความกว้างมากกว่า แต่มันต้องเพิ่มความหนาของกระจก ราคาถีบไปหมื่น เลยไม่กล้างบไม่พอ
หลังจากเคลียร์เรื่องความสะอาดของหินแล้ว เพื่อให้เป็นฝุ่นน้อยที่สุด ผมก็ลองเปิดปั้มให้น้ำไหลผ่านกรองสักพัก น้ำก็ยังไม่ใสขึ้น ก็เลยวิ่งไปร้านขายปลา ซื้อปลาด้วย ซื้อน้ำยาสีฟ้า ๆ น้ำใสด้วย ก็ใส่ไป วันแรกก็น้ำใสครับใสดีเพราะปลาน้อยอยู่ไง ปลาสามตัวเล็ก ๆ เอามาทดลองเลี้ยงก่อน
พูดถึงเรื่องน้ำยาน้ำใสแล้ว ความจริงแล้วน้ำยาตัวนี้จะว่าไปแล้วมันก็ช่วยได้อยู่นะครับ แต่ถ้าจำนวนปลาต่อขนาดตู้ค่อนข้างจะแน่น น้ำยาน้ำใสก็ช่วยไม่ได้นะครับ ความจริงความใสของน้ำในตู้เลี้ยงปลาขึ้นอยู่กับระบบของการย่อยสลายของจุลินทรีย์มากกว่าครับ
อย่าเพิ่งไปคาดหวังกับสภาพน้ำมากครับในวันแรก ๆ เพราะจุลินทรีย์ แบคทีเรีย กว่าจะโตกว่าจะทำงานได้ดีก็ต้องมีของเสียจากตัวปลาในระดับหนึ่งก่อนครับ ระยะนี้อย่าเพิ่งใจร้อนไปถ่ายน้ำครับ ยิ่งถ่ายน้ำยิ่งใสยาก ต้องทนน้ำขุ่นในตู้ปลาไปสักระยะก่อนครับ
ผมมาแรก ๆ นี่น้ำไม่ใสถ่ายน้ำใหม่เกือบหมดตู้ตลอด สุดท้ายไม่เวิร์ก แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งผมยุ่งเลยไม่ได้แตะต้องตู้ปลาเลย ผลัดวันประกันพรุ่งว่าจะเปลี่ยนน้ำใหม่ แต่พอวันใหม่ธุระใหม่ก็เข้ามาก็เลยปล่อยให้น้ำมันขุ่น ๆ อยู่แบบนั้น ปรากฎว่ามันใสได้เองแฮะ งงเลย สุดท้ายมาหาความรู้ในเน็ตเขาก็บอกแบบนี้ คือ ระบบกรองมันยังไม่เซ็ตตัว สุดท้ายแล้วน้ำยาน้ำใสก็เลยไม่ได้เงินผมอีกเลย
![]() |
ลูกปลาทองไล่กินไรทะเลตัวน้อย |
ปลาทองป่วย
พอเข้าหน้าฝนแรกของการเลี้ยงปลาของผม อากาศก็เริ่มเย็นบ้างปลาทองก็จะป่วยง่ายขึ้น เวลาปลาทองป่วยสังเกตได้ง่ายมาก คือมันจะซึมเลย จมอยู่ก้นตู้ ไม่กระดี้กระด้าร่าเริง สำหรับการพยาบาลขั้นต้นเลยก็คือ
1. น้ำต้องสะอาด
2. อุณหภูมิคงที่
3. งดให้อาหาร
อันนี้อย่าว่าผมโหดนะ บางทีหากเราซื้อยามารักษามัน บางทีเอาตังค์ไปซื้อปลาตัวใหม่เหอะ ยาปลาทองนี่แพงมากที่ขายกันตามเว็บ ถ้าปลาไม่ซื้อมาแพงจริงก็นะ อย่างผมซื้อปลาทองแพงสุดก็ตัวละ 120 เอง ก็กำลังจะไปลองเลี้ยงไซ้ร์สใหญ่ดูบ้างแต่ว่า พื้นที่ตู้ไม่อำนวยแล้ว คงต้องรอจนกว่าสมาชิกจะล้มหายตายจากหล่ะมั้งครับ
ส่วนมากแล้วผมก็มักจะใช้ยาพวก Oxycyclin อ่ะนะครับ พวกยาคนแคปซูลแกะออกมาผงสีเหลือง ๆ หรือที่เรียกว่ายาแก้อักเสบแหล่ะครับ ใส่ไปไม่มากนัก หลักของการรักษาคือ อย่าใส่ยาเกินขนาด อย่าใจอ่อนให้อาหาร รักษาคุณภาพน้ำให้สะอาด รักษาระดับอุณหภูมิให้ได้ (อาจจะซื้อฮีทเตอร์มาติด ๆ ไว้บ้าง) แต่เมืองไทยส่วนใหญ่จะร้อนครับ มีเย็น ๆ ไม่กี่ช่วง แต่ถ้าเป็นทางเหนือ กับอีสาน นี่ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ
ยาพวก Amoxy ก็เคยใช้นะแต่ผมว่าไม่ค่อยจะได้ผลเท่าไหร่ ปลาทองบางตัวมันป่วยจากอวัยวะภายในแบบนี้ก็ช่วยยากครับ ผมก็เคยมีอยู่ตัวรักมาก ตอนแรกอาการเขาคือเกล็ดพอง ผมก็คิดว่ามันคงเป็นจากอาหารปลาดุกที่ซื้อให้มันกิน (อย่าซื้ออาหารปลาดุกตามร้านการเกษตรให้ปลาทองเลยนะครับ บางตัวกินไม่เป็นอะไร บางตัวกินแล้วก็ป่วย) ก็ผมก็จับแยกไปอดอาหาร แล้วมันก็หาย ผมก็เลี้ยงตามปกติได้อีกสักพักใหญ่ ๆ มันก็เกล็ดพองอีก ผมก็จับไปงดอาหารเหมือนเดิม ทีนี้ไม่หายสุดท้ายก็ตายครับ ... เสียดายครับ แต่ว่านั่นแหล่ะ ปลาทองตายก็ซื้อใหม่ ตายเป็นเรื่องปรกติ
ตอนนี้ผมก็มีอยู่ตัวหนึ่ง หัวปัก แต่ก็ยังมีชีวิตรอดได้นะครับ เขาหัวปักทั้งวันจับงดอาหารแล้วก็ดีขึ้นแต่ก็ไม่หายขาด ก็เลี้ยงกันต่อไป เลี้ยงมาตั้งปีกว่า ๆ แล้ว
ก็ต้องหมั่นสังเกตอาการปลาครับ
อาการป่วยที่เกิดจากปรสิตภายนอก ที่ผมเจอบ่อย ๆ เลยก็คือเห็บปลาครับ อันนี้รักษาไม่ยากนัก ปลาไม่เป็นอันตรายถึงตาย สามารถสังเกตเห็นตัวเห็บได้ด้วยตาเปล่าครับ เห็บหน้าตามันก็น่ารักดีนะ แต่เกาะปลาแน่นมาก การรักษาส่วนใหญ่ก็ใส่ยาครับ ใส่แบบเว้นระยะ เช่นเว้นระยะสองสามวันใส่ทีหนึ่ง หรือหนึ่งสัปดาห์ใส่ทีหนึ่ง แต่ต้ัองต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๆ ก็ประมาณสักเดือนหนึ่งจึงจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อยู่หมัด
ปลาเป็นเห็บนั้นเราจะเห็นได้ง่ายคือปลาจะเอาตัวไปแฉลบกับหินในตู้ ปลาทองไม่ใช่ปลาที่ชอบว่ายน้ำแฉลบไปมาครับ มันจะว่ายมาอย่างเร็วครับแล้วเอาส่วนหนึ่งส่วนใดถูกับวัสดุในตู้ อาการแบบนี้เป็นอาการบ่งบอกว่าปลาอาจจะเป็นโรคเห็บครับ หรือบางทีเราก็จะสังเกตเห็นว่าเกล็ดหลุดครับ ถ้าเห็บเกาะหาง เราจะเห็นว่าบริเวณที่เห็บเกาะมันจะเกิดอาการตกเลือดครับ เราจะเห็นเลือดปลาเป็นเส้น ๆ ตามลายของหางปลาทองเลยหล่ะครับ
ยาฆ่าเห็บ ตัวที่ไม่แรงเช่น Top อันนี้ก็ใส่ได้เยอะครับปลาไม่เป็นอะไร แต่เหมือนว่าเห็บจะไม่ตายนะครับ ตัวที่ผมใช้บ่อยก็คือ ดีมิลิน ใส่เท่าโดสที่กำกับก็เห็นว่าปลาก็เริ่มมีอาการเหมือนไม่สบายตัวให้เห็นเลยหล่ะครับ ตีมิลิน อย่าใส่เกินโดสครับ ถึงขั้นฆ่าปลาได้เลย
สำหรับดีมิลินผมใส่ต่ำกว่าโดสนิดหน่อย (กะกะเอา เพราะกลัวปลาตายมากกว่า) หรือใส่พอดีโดส ใส่แล้วอย่าใจร้อนครับ ยามันไม่ได้ออกฤทธิ์ปุ๊บปั๊บ ยามันออกฤทธิ์ของมันไปครับ สักชั่วโมงหนึ่งก็เห็นว่าเห็บจะหลุดออกจากตัวปลา มันจะว่ายให้เราเห็นเลย เหมือนมันเมายา ประมาณนั้น แต่ก็ไม่ใช่ใส่วันหนึ่งแล้วหยุดนะครับ เพราะว่าบางทีเรามักจะได้เห็บตัวแม่มา ตอนที่เรายังไม่ทันสังเกตเห็นอาการจากปลา มันอาจจะวางไข่ทิ้งไว้ในตู้ ก็ต้องเว้นระยะสักสามสี่วัน แล้วใส่ยาซ้ำ แล้วก็เว้นสักสามสี่วันอีกใส่ยาซ้ำ ทำไปสัก 4 - 5 รอบครับ เพราะดูเหมือนว่ายาฆ่าได้เฉพาะตัวครับ ไข่จะฆ่าไม่ได้มั้งครับ คือพูดง่าย ๆ คือที่ต้องรอ สามสี่วันใส่ก็คือเหมือนกับให้มันฟักออกจากไข่ก่อน จากนั้นเราก็ฆ่ามัน แต่บางทีมันอาจจะมีไข่ที่แบบว่าฝักช้า ฝักเร็ว หรืออาจจะวางไว้หลายล็อต เราก็เลยต้องทำการเว้นระยะแล้วใส่ซ้ำครับ
ครีบเปื่อยหางเปื่อยต้องดูเรื่องน้ำก่อนครับ เพราะส่วนใหญ่เกิดจากคุณภาพน้ำที่ไม่ดี คำว่าคุณภาพน้ำไม่ดี นั้นไม่ใช่ว่าเราเปิดอ็อกซิเจนตลอดเวลา แล้วจะทำให้คุณภาพน้ำดีนะครับ ต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วยเช่นพวกค่าทางเคมีต่าง ๆ การเปิดอ็อกเพื่อเพิ่มอ็อกซิเจนในน้ำนั้นเป็นเรื่องดีครับ เพราะนอกจากปลาใช้ในการดำรงชีวิตแล้วพวกแบคทีเรีย จุลินทรีย์ ก็ใช้ในการย่อยสลายของเสียของปลาด้วยเช่นกันครับ ก็ควรเปลี่ยนน้ำบ้าง อย่าเปลี่ยนน้ำบ่อย และอย่าเปลี่ยนจนหมดแท้งก์ ให้เปลี่ยน 30% - 50% ทุกสามวัน อันนี้ก็น่าจะเพียงพอครับ แต่ปัจจัยนี้ก็ต้องดูว่าคุณเลี้ยงปลาแน่นตู้ขนาดไหนด้วยนะครับ เพราะปลาแน่นตู้ ถ้าอยากเลี้ยงให้ปลาร่าเริงสดใสก็ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยหน่อยครับ การเปลี่ยนน้ำไม่ใช่ว่าเปลี่ยนเฉพาะน้ำนะครับ เป็นไปได้ให้หาทางดูดเอาของเสียที่กองก้นอยู่ในตู้ปลาออกมาด้วยครับ ไม่ต้องห่วงว่าแบคทีเรียจะอดตายครับ เพราะปลาทองกินเก่งขี้เก่งครับแป้บ ๆ เดียวขี้ก็ออกมาเต็มก้นตู้อีกแล้ว
อาหารปลาทอง
ผมก็หัวสูงครับซื้อแต่ Hikari เลยครับ เพราะว่าผมไม่ชอบอาหารลอยครับมันชอบไหลลงกรองอยู่เรื่อยเลย ก็เห็นแค่ยี่ห้อ Hikari มีแบบเม็ดจมก็เลยซื้อมา ราคาก็แพงกว่าชาวบ้านเขาแหล่ะครับ แต่ก็นะมันก็ตอบโจทย์ผมได้ ปลาทองแยกได้ครับถึงแม้ว่าตู้ผมจะมีกรวดเม็ดไม่เล็กมากอยู่ด้านล่าง ปลาทองเวลามันดูดหินเข้าไปมันก็บ้วนออกได้ครับไม่เป็นปัญหาแต่อย่างไร
การให้อาหารไม่ควรให้เยอะเกินครับ เพราะว่าปลาทองจะป่วยได้ง่าย แถมการให้กินเยอะก็เปลืองเปล่า ๆ ครับ ปลาทองมันไม่เคยอิ่มหรอกครับ ผมคาดว่ามันเกิดจากมันไม่มีกะเพาะอาหารมั้ง (ไม่ได้จบสัตว์แพทย์มา) กินแล้วก็ย่อยในลำไส้ ดังนั้นถ้าให้อาหารมากไป มันก็ออกตูดหมด เท่าที่เคยสังเกตลูกปลาทองกินไรทะเลจนท้องเป่งมาก มันจะไม่กินเข้าไปอีกครับ คือมันจะเอาไปเคี้ยว ๆ แล้วก็บ้วนออกครับ
การให้อาหารมากก็จะทำให้เกิดของเสียมากขึ้นตามไปด้วย อย่้าลืมว่าการเลี้ยงปลาแบบนี้เป็นระบบปิด คือของเสียก็อยู่ในตู้นั่นแหล่ะ พอของเสียมากก็จะลากคุณภาพของน้ำให้ตกต่ำลงไปด้วย จะเห็นได้ว่ามันสัมพันธ์กันไปหมด
เลี้ยงปลาเยอะ -> อาหารใส่ไปมาก -> ของเสียมาก -> คุณภาพน้ำลดลง -> ปลาป่วยง่าย -> ตาย
ปลาทองที่เลี้ยงในตู้อย่าไปคาดหวังให้มันโตครับ มันก็ได้ตามขนาดสภาพแวดล้อมนะครับ ที่เราเห็นปลาตัวใหญ่ ๆ เพราะมันมาจากฟาร์ม ในฟาร์มเขาเลี้ยงกันเป็นบ่อ บ่อกว้างกว่าตู้มากครับ แถมถ้าเป็นพวกปลาเกรดสูง ๆ เลี้ยงกันบ่อละไม่กี่ตัวอีกต่างหาก ทำให้ปลาโตเร็วครับ พอปลาโตเร็วฟาร์มก็ขายได้ราคา กิจการเขาก็ดำเนินต่อไปได้ครับ
ไรทะเล ผมก็ให้บ้างครับแต่ไม่บ่อยมาก นาน ๆ นึกขึ้นได้ก็จะไปซื้อสักที เวลาซื้อมาก็มาล้างน้ำจืดก่อนครับ เพราะไรทะเลมันอยู่ในน้ำเค็ม จากนั้นก็แช่ด่างทับทิมเพื่อฆ่าเชื้อสักเล็กน้อย แช่ไว้ประมาณ 15 นาที จากนั้นก็ล้างน้ำธรรมดา ล้างให้สะอาดสามสี่รอบ (กลัวตกค้าง) จากนั้น แช่ทิ้งไว้อีกประมาณ 10 นาที ก็เอาไปให้ปลากินครับ
ไรทะเล กับ ไรแดงไม่เหมือนกันนะครับ บางคนก็คิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน ไรทะเล มีอีกชื่อคืออาร์ทีเมียครับ เจ้าตัวนี้อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม ส่วนไรแดงนี่อยู่ในน้ำจืดตัวเล็ก ๆ ครับ สมัยก่อนหาได้ง่าย ยิ่งหน้าฝนนะครับ สมัยนี้ผมไม่เคยเห็นอีกเลย โดยมากแล้วไม่ค่อยมีขายตามร้านขายปลาหรอกครับ คนที่เพาะเลี้ยงปลาจะใช้ในการอนุบาลลูกปลาครับ เนื่องจากตัวมันเล็ก โปรตีนสูง ทำให้ลูกปลากินเข้าไปได้และทำให้ลูกปลาโตเร็วครับ
ลูกน้ำ ลูกน้ำนี่เป็นอาหารที่จะว่าหาง่ายก็หาง่ายนะ จะว่าหายากก็หายาก แต่ลูกน้ำตามแหล่งน้ำสกปรกก็ไม่แนะนำนะครับ ถ้าเป็นลูกน้ำที่เพาะขึ้นมาเอง อันนี้ก็พอได้อยู่ครับ วิธีการเพาะก็ไม่ยุ่งยากอะไรก็เพียงแค่ใส่น้ำ ใส่เศษหญ้าแห่ง หญ้าสด ลงกระป๋องสีดำ ไปตั้งไว้ที่ที่มันอับลมสักนิดหนึ่ง อีกสักสี่วันก็ได้ลูกน้ำมาปริมาณหนึ่งแล้วครับ แต่อาจจะไม่เยอะพอสำหรับปลาอ้วน ๆ อันนี้ผมใช้เพาะลูกปลาทองที่เหลือ ๆ รอดมาอะไรแบบนี้ก็ใช้ได้ครับ ลูกน้ำตัวเล็ก ๆ ลูกปลาทองก็กินสามารถที่จะกินได้ครับ
ด้วยความที่เป็นคนเมือง (ถึงจะบ้านนอก แต่ก็เมืองบ้านนอก) ก็ส่วนใหญ่เลยจะให้อาหารเม็ดครับ วันละสองมื้อ เช้า เย็น บางทีแม่มาดูแม่ก็หยิบให้อันนี้ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ ส่วนใหญ่แล้วปลาทองก็กินได้ทั้งวัน ปัญหาคือการขับถ่ายของเสีย หรือคุณภาพน้ำมากกว่าครับ อย่าให้อาหารปลาเหลือตกค้างในตู้ปลาครับ คือให้ทีละน้อย ๆ แต่ให้ปลาทองกินหมดจะดีกว่า
ผมมีทฤษฎีของผมเองอย่างหนึ่งครับ ทุกคนรู้จักขี้ใช่ไหมครับ ถ้าเราพิจารณาดี ๆ ขี้เนี่ย เป็นเศษเล็ก ๆ นะครับ ถึงแม้ว่าในตาเราจะมองเป็นว่ามันออกมาเป็นก้อน อย่างเช่นขี้หมา แม้กระทั่งขี้คน (ขี้ตัวเอง) ความจริงแล้วมันเป็นผง ๆ ครับ เป็นฝุ่นเลย ขี้หนึ่งกอง กับหนูตายหนึ่งตัว ขนาดเท่า ๆ กัน อันไหนเหม็นกว่ากันครับ ? ผมว่าหนูตายน่าจะเหม็นกว่านะครับ ผมจึงสรุปว่าถ้าเราปล่อยเศษอาหารให้เหลือในตู้ปลา มันก็เน่าเหมือนกันครับ แต่มันอาจจะทำให้คุณภาพน้ำแย่กว่าการมีขี้ปลาเหลืออยู่ในตู้ปลากว่ามากครับ และเพื่อความประหยัดครับให้อาหารปลาแต่พอกินครับ เหลือก็เก็บไว้ให้พรุ่งนี้ก็ได้ อาหารปลาไม่เน่าเสียง่ายอยู่แล้วครับถ้าไม่โดนความชื้น
เมื่อซื้อปลามาเพิ่ม
บางทีเราไปเดินเที่ยว หรือเราอาจจะไปซื้ออาหารปลา เราอาจจะเห็นปลาที่เขาขาย เอ้ย สวยดี ราคาก็ได้อยู่ เราก็เลยซื้อมา
การซื้อปลามานั้น บางทีเราก็ไม่รู้ว่าปลาใหม่นำพาโรคอะไรมาบ้าง ผมหน่ะเจอประจำเลย ผมไม่มีตู้กักโรคปลา ผมก็เลยมักจะเอาปลาใหม่ไปผสมกับปลาเดิมเลย เลี้ยงรวมกันไปเลย ผลปรากฎว่าสิ่งที่ผมได้รับคือเห็บปลา การกำจัดเห็บก็ใส่ยาว่ากันไปครับ
แต่การกระทำแบบผมนั้นเรียกว่าประมาทครับ อาจจะทำให้ปลาเก่าตายได้นะครับ ไม่ควรทำตาม เป็นไปได้ก็ควรจะมีการกักโรคก่อน ระยะหลัง ๆ ผมก็กักมากขึ้นแบบว่ารำคาญเห็บ เป็นเห็บทีปลาเกล็ดถลอกปอกเปิดไม่สวยถึงแม้ว่าสักพักเกล็ดก็จะงอกออกมาใหม่ก็ตาม
ไม่ควรเลี้ยงปลาอื่นรวมกับปลาทองนะครับ ควรจะเลี้ยงปลาทองในวงศ์เดียวกัน ผมก็ไม่แนะนำให้เลี้ยงโคเม็ทรวมกับออลันดานะครับ เพราะโคเม็ทมันจะออกแนว ๆ ปลาคาร์ฟมากกว่า เลี้ยงพวกแฟนซีเทล (Fancy Tail) ก็เลี้ยง Fancy Tail ให้หมดเลยครับ
ควรหาปลาไซ้ร์สเดียวกันมาเลี้ยงครับ เพราะว่าปลาตัวใหญ่มักจะกินเก่งกว่าปลาตัวเล็ก ทำให้ปลาตัวเล็กได้อาหารน้อยลง
การทำความสะอาดตู้ปลา
อันนี้จะครอบคลุมเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่นการเปลี่ยนน้ำ ความถี่หล่ะบ่อยไหม อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมนะเช่น เลี้ยงปลาค่อนข้างแน่น ก็ควรจะถ่ายน้ำบ่อยหน่อย ถ้าถ่ายน้ำทุกวันก็สักวันละ 10% ของความจุทั้งหมด หรือถ้า 3-5 วันครั้งก็สัก 30% - 50% ปัจจัยที่จะทำให้เปลี่ยนน้ำบ่อยคือ ปริมาณของปลา และอุปนิสัยของการเลี้ยงเช่นให้อาหารหนักมือ ปลากินไม่หมด เหลือตกค้าง อะไรพวกนี้ก็ทำให้คุณภาพน้ำเสียได้
การเปลี่ยนน้ำไม่ควรเปลี่ยนน้ำใหม่ทั้งหมด เพราะปลาทองอาจจะปรับตัวไม่ทัน เกิดสภาพของปลาช็อคน้ำ ตายได้
ใส่เกลือไหม ? ของผมนี่ไม่ได้ใส่เกลือนะครับ ก็เลี้ยงตามปรกติ บ้างก็ว่าให้ใส่เกลือลงไปหน่อย ก็แล้วแต่ครับลอง ๆ ดู แต่อย่าใส่หนักมือไปมากนักเพราะปลาทองเป็นปลาน้ำจืดนะครับ ไม่ใช่ปลาน้ำกร่อย หรือปลาน้ำเค็ม ผมเข้าใจว่าเกลือที่ใส่ก็คือเกลือทะเลนะ อันนี้ไม่รู้เข้าใจถูกหรือเปล่านะครับ แต่คิดว่าเกลือที่มีอยู่ และใช้ในตามครัวเรือน ในบางภูมิภาค ที่เขาไม่ได้ติดกับทะเล การหาเกลือทะเลมาใช้อาจจะยาก อาจจะใช้เกลือที่ทำมาจากหิน ซึ่งแตกต่างกัน หรืออาจจะมีเกลือสังเคราะห์ที่ความเค็มมันสูงเกินไปใช้ไม่ได้ ผมเคยอ่านหลาย ๆ บทความผมก็งง ๆ อยู่ แต่อันนี้ไม่รู้ว่าผมเข้าใจถูกหรือเปล่า เกลือทะเลที่แพ็คเป็นถุง ๆ ที่เขาเติมไอโอดีนไว้แล้วนั่นก็ใช้ไม่ดีครับ เพราะมันมีไอโอดีเจือปน กันปลาเป็นโรคเอ๋อ (ไม่ใช่แล้ว)
ถ้าตู้เรามีกรองก็ทำความสะอาดกรองบ้าง แต่ไม่ต้องทำบ่อยนักประมาณสัก 3-4 เดือนครั้ง ก็แนะนำว่าถ้าวันไหนจะล้างกรองก็เหลือน้ำในตู้ไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเหลือได้ เพราะว่าเวลาเราล้างกรองบางทีแบคทีเรียที่อยู่ในกรองก็จะหายไปกับน้ำ หรือตายเป็นจำนวนมาก บางบทความเขาบอกให้เอาน้ำเลี้ยงปลามาล้างกรองด้วยซ้ำ แต่ผมว่าล้างด้วยน้ำประปาไปเหอะ เก็บน้ำเลี้ยงปลาไว้ง่ายกว่า พอแบคทีเรียหายไปมาก ๆ ก็จะทำให้ระบบกรองนั้นไม่ทำงาน คือกรองยังไม่เซ็ตตัว กรองล่มอยู่ ซึ่งถ้าเราเหลือน้ำเก่าไว้ในตู้ก็จะเหมือนเลี้ยงแบ็คทีเรียส่วนหนึ่งไว้ กรองก็จะกลับมาทำงานได้ดี พอล้างกรองก็ใจเย็น ๆ น้ำอาจจะไม่ใสในช่วง 2 - 3 วันแค่นั้นเอง ไม่ต้องตกใจเปลี่ยนน้ำซ้ำลงไป ลดปริมาณอาหารลงก็น่าจะช่วยได้ แต่ผมก็ให้ปริมาณเดิมนั่นแหล่ะ ไม่เห็นเป็นอะไร น้ำก็ไม่ได้ขุ่นอะไรมากมายนัก
แต่โดยรวม ๆ แล้วก็ไม่มีกฎเกณฑ์ทางด้านเวลาอะไรเป๊ะ ๆ หรอกครับเพียงแต่ต้องอย่าลืมดูแลมันบ้าง เพราะสิ่งปฏิกูลมันอยู่ในตู้ ระบบมันเป็นระบบปิด ก็ต้องมีการทำความสะอาดกันบ้างในบางเวลาที่เราว่าง ๆ
อายุของปลาทอง และอุณหภูมิน้ำ
เท่าที่เลี้ยงมาปีครึ่ง อุณหภูมิน้ำผมเฉลี่ย ๆ อยู่ที่ 32 องศา ในตู้ปลาผมก็มีเทอร์โมมิเตอร์อยู่อันหนึ่ง เท่าที่สังเกตดูไม่ค่อยขึ้นหรือลงอะไรนะครับ ส่วนตอนนี้เลี้ยงมาแล้ว ชุดแรกที่ซื้อมาเลี้ยงก็ยังมีชีวิตอยู่นะครับ แต่ก็มีหลาย ๆ ตัวที่ตายไป ผมก็ไม่รู้นะครับเวลาปลาทองผมจะตายเนี่ย อาการของมันก็คือ ว่ายน้ำทรงตัวผิดปรกติ เกล็ดพอง แต่ก็ไม่ได้มีอาการของการอักเสบคือตกเลือดหรือบวมแดง ตัวบวมขึ้น จากนั้นมันก็จะหมดแรงลอยหงายท้อง ไม่ว่ายน้ำ แต่ก็ยังหายใจพะงาบ ๆ อยู่ แล้วก็ตาย ครีบส่วนใหญ่ก็เหมือนจะมีอาการของการเปื่อยเป็นริ้ว ๆ ผมก็ไม่รู้ว่านี่คืออาการป่วยของปลาหรือเปล่า แต่คิดว่าอวัยวะภายในมันล้มเหลวแล้วหรือเปล่า เพราะตอนนั้นเห่อ ซื้อปลามาหลายตัว พอครบปี ปีกว่า มันก็เริ่มทยอย ๆ ตาย ในเวลาใกล้ ๆ กัน ทิ้งกันสัปดาห์หนึ่ง เดือนหนึ่งก็มี แต่มันก็เป็นทีละตัว อาการไม่เหมือนกับปลาเกล็ดพองเพราะคุณภาพน้ำไม่ดี ผมคิดว่าอาการแบบนี้น่าจะถึงเวลาของมันหรือเปล่า
บางตำราก็ว่าปลาทองอายุยืน แต่ถ้าพิจารณาจากอุณหภูมิน้ำที่ผมเลี้ยงกดไป 32 เห็นมีหลาย ๆ บทความก็ว่าการที่น้ำอุณหภูมิสูงจะเป็นการเร่งวงจรชีวิตของสัตว์น้ำให้สั้นลง อันนี้ผมก็ไม่รู้ ท่านใดมีความรู้ก็แชร์ ๆ ผมด้วยนะครับ
มีปลาอยู่ตัวหนึ่งเจ้าของเขาให้ผมมาเขาเลี้ยงมาแล้วปีกว่า ๆ แต่เขาเลี้ยงคงใช้น้ำอุณหภูมิไม่เท่าของผม เพราะตู้ผมโดนแดด เช้า-เย็น ปกติห้องผมร้อนแต่ผมชินแล้วมีพัดลมเป่าอยู่ตัวหนึ่งผมก็อยู่ได้ ผมก็เลี้ยงปลาตัวนี้ไปได้อีกปีเกือบครึ่งก็ตาย (แสดงว่าตัวนี้อายุน่าจะราว ๆ 2 ปีครึ่ง) แต่ตอนนี้ปลาที่ผมเลี้ยงตั้งแต่ตอนที่ซื้อตู้มาใหม่ ๆ ก็ยังอยู่นะครับ เหลืออีกสี่ตัวได้ ณ วันนี้อายุมันก็น่าจะราว ๆ ปีครึ่งแล้วครับได้มาตอนไปเที่ยวฟาร์มแหล่ะครับ แสดงว่าปลาฟาร์มของคุณลุง น่าจะอายุยืนนะ ว่าง ๆ จะไปบ้านโป่งซื้อปลาตัวโต ๆ มาเลี้ยงบ้าง :)
อ่านต่อ ... หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาอีก 3 ปี
เคล็ดลับการเลี้ยงปลาทองให้อยู่รอดได้นาน ๆ